ถือเป็นความสูญเสียที่เกินจะรับไหวจริงๆสำหรับนักแสดงสาว “โยเกิร์ต ณัฐฐชาช์” ที่ต้องสูญเสียคุณพ่อไปอย่างไม่มีวันกลับจากโรคโควิด งานนี้สาวโยเกิร์ตเลยได้ควงสามี “พีเค ปิยะวัฒน์” มาเปิดใจเรื่องนี้ผ่านรายการคุยแซ่บ show พร้อมเล่าวิธีการรักษาอย่างชัดเจน

โยเกิร์ต เผยว่า “ย้อนไปเดือนที่แล้ววันที่ 7 มิ.ย.จำได้ขึ้นใจเพราะวันนั้นเป็นวันเกิดคุณแม่ และเป็นวันที่คุณพ่อได้คิวไปฉีดวัคซีนเข็มแรก ปรากฏว่าเป็นวันที่ผลตรวจออกมาว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นโควิดคือก่อนหน้านั้นทั้งคู่เขามีอาการนิดหน่อยเป็นไข้ไอ เขาก็ยังพูดเล่นกับเราว่าไม่สบายนะ แต่ว่าไปตรวจโควิด แต่คงไม่ได้เป็นหรอก ไปตรวจเพื่อความสบาย โยคิดว่ารับเชื้อมาจากคนในครอบครัวอย่างที่เป็นข่าวว่าคนในครอบครัวติดกันเยอะมาก ถ้าเป็นไปได้อยู่บ้านก็ใส่หน้ากาก และแยกกันรับประทานอาหาร อยู่บ้านเดียวกันก็จริง แต่ช่วงนี้แยกกันกินข้าวคนละมุมไปก่อน”

“ตอนนั้นรู้ผลก็ยังไม่รู้สึกร้อนรนมากใจยังนิ่งอยู่เพราะอาการเขาน้อยมากจริงๆ โอเคติดแต่มันก็หายได้ คิดว่าพ่อแม่น่าจะเป็นไม่เยอะ รักษาตัวใช้เวลาไม่นานก็คงจะหาย ขั้นตอนการรักษาก็ได้คุยกับพี่อุ๊ เพื่อนพี่พีเค พี่อุ๊โทรหาพี่ได๋ พอรู้ผลตรวจก็กักตัวอยู่ที่บ้านเขาบอกให้รอ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่มาดูอาการเบื้องต้น เช่น วัดค่าออกซิเจน แน่นหน้าอกไหม และนำคุณพ่อคุณแม่เข้าสู่ระบบต่อไป เช่นอาการไม่หนักมากก็ให้อยู่ hospitel ถ้าอาการหนักก็รีบส่งตัวไปโรงพยาบาล ตอนนั้นอาการเบาเลยได้อยู่ hospitel อยู่ได้ 1 วัน ก็มีแพทย์มาตรวจมาเอกซเรย์ปอด ตรวจค่าต่างๆ ตามความเห็นแพทย์ ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่อายุเยอะ และก็มีประวัติว่าเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน แพทย์เลยมีความเห็นว่าอยากให้ย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งคู่เคยเป็นมะเร็งและรักษาหายมาแล้วทั้งคู่”

โยเกิร์ต เล่าต่อว่า “ตอนแรกที่เข้าโรงพยาบาลอาการของคุณแม่น่าเป็นห่วงมากกว่า คุณหมอบอกว่าแม่ค่าไตไม่ค่อยดี เราก็จะเป็นห่วงคุณแม่โฟกัสไปที่คุณแม่มากกว่า แต่อยู่ๆไม่กี่วันต่อมาคุณหมอก็โทรมาบอกว่าจากที่คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ใส่ออกซิเจนต้องให้เป็นเครื่องไฮโฟลว์ เราจะบอกว่าผู้สูงอายุเราจะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะอาการมันสามารถหนักและทรุดไปภายในพริบตา ตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวกับการที่คุณพ่อเป็นมะเร็งหรือเปล่า ยิ่งตรวจว่าตัวเองเป็นโควิดเร็วเมื่อไหร่ก็ยิ่งดี หรือถ้าพอมีกำลังทรัพย์ซื้อเครื่องออกซิเจนไว้ที่บ้านก็ยิ่งดี ตอนแม่บอกไม่ไหว มันก็รู้สึกเหมือนกัน จากที่วันนึงเราต้องเข้มแข็งเพื่อเขา แต่ใจมันก็ลงไปอยู่ตาตุ่มเหมือนกัน เพราะปกติแม่เป็นคนที่เข้มแข็งมาก ไม่คิดเหมือนกันว่าเขาจะพูดคำนั้นออกมา คำพูดที่เขาพูดกับโยมันรุนแรงกว่านั้น อยากให้นึกภาพวันแรกที่คุณพ่อคุณแม่ป่วยเป็นโควิดเขารักษาอยู่ด้วยกัน แต่วันนึงที่คุณพ่ออาการแย่ต้องย้ายตัวไปอยู่ที่ไอซียู และคุณแม่ต้องอยู่ในห้องคนเดียวพยาบาลเข้ามาเช็คอาการแค่ 4 ชั่วโมงครั้ง ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อน ไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ ต้องต่อสู้กับโรคนั้นคนเดียว มันทรมานมันไม่สามารถนอนหลับพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้ ปกติใจแม่จะสู้จะเข้มแข็งแต่แม่พูดกับโยว่าแม่ไม่ไหวแล้ว ไม่อยากต่อสู้กับมันแล้ว”

“ที่คุณพ่อโยใส่ไฮโฟลว์คือได้รับยาต่างๆนานาตามที่คุณหมอให้แต่ว่าค่าออกซิเจนที่ได้ไม่ดีขึ้น ไม่ถึง 90 ได้แค่ 80 กว่าๆ ผลเอกซเรย์ปอดก็ยังมีฝ้าให้เห็นอยู่ ตอนนั้นอยู่ในไอซียูแล้วเพราะฉะนั้นการสื่อสารก็ค่อนข้างที่จะลำบากนิดนึงเราก็ต้องวีดีโอคอลไปเครื่องพยาบาล และพยาบาลก็จะเอาโทรศัพท์ไปให้พ่อ ตอนนั้นพ่อก็ดูเหนื่อยแม้ว่าจะมีเครื่องไฮโฟลว์พูดได้ไม่เยอะ เป็นฝ่ายเรามากกว่าที่เป็นคนพูดให้กำลังใจ คุณหมอจะเป็นคนคอยอัพเดตอาการของคุณพ่อตลอด คือก่อนหน้าที่จะใส่ท่อ คุณหมอเขาจะโทรมาพูดถึงความเป็นไปได้ในทิศทางบวกและในทิศทางลบ คุณหมอพูดว่าถ้าสมมุติใส่ไฮโฟลว์แล้วไม่ดีขึ้นอาจจะต้องใส่ท่อท่อให้คุณพ่อหายใจสบายขึ้น และเพื่อให้ค่าออกซิเจนดีขึ้น ก่อนที่จะใส่ท่อมีอะไรอยากที่จะสื่อสารกับคุณพ่อไหม เพราะหลังจากที่ใส่ท่อไปแล้วคนไข้อาจจะไม่สะดวกในการสื่อสาร ตื่นขึ้นมาจะมีอะไรที่อยู่ในปาก อาจจะเกิดการต้านไม่สะดวกไม่สบายตัว ถ้าคุณพ่อต้านคุณหมอจะให้ยานอนหลับ เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องฝืนเครื่องช่วยหายใจ คุณหมอก็ถามว่าเราอยากจะพูดอะไรกับคุณพ่อก่อนที่จะใส่เครื่องช่วยหายใจไหม โยก็เลยโทรหาแม่ให้แม่เป็นคนคุย เพราะรู้สึกว่าคนที่อยู่เคียงข้างกันมาตลอดก็คือคุณแม่ คนที่พูดกับคุณพ่อก็ควรที่จะเป็นคุณแม่ ถามว่าแม่คุยอะไรกับพ่อ ณ ตอนนี้โยก็ยังไม่กล้าถามว่าคุยอะไรกันบ้าง โยเองก็ไม่ทันได้คุยกับพ่อเพราะคุณหมอใส่ท่อคุณพ่อไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้คุยกับคุณพ่อ ครั้งสุดท้ายที่คุยกับพ่อก็คือตอนที่คุณพ่อใส่ไฮโฟลว์คำสุดท้ายที่พ่อพูดกับโยที่อยู่จำได้ก็คือให้กลับไปดูแลแม่นะ”

“วันสุดท้ายนั้น ความน่าเศร้า จากกันที่ไม่ร่ำลา ไม่มีโอกาสเห็นหน้าพ่อ ได้กอดพ่อ ไม่มีโอกาสได้บอกลา ตอนไปรับศพก็ไปยืนห่างๆ การกระทำเหมือนเป็นสิ่งของไม่ใช่พ่อเรา อยากกอด อยากกราบก็ทำไม่ได้ ได้แต่ยืนดูห่างๆเรื่องนี้สอนโยหลายอย่าง ถ้าพูดถึงพ่อแม่โย ตลอดเวลาที่ผ่าน นึกถึงคำว่าคู่ชีวิต ไปไหนด้วยกันตลอด กินข้าวนอนพร้อมกัน เจอสถานการณ์แบบนี้ทำให้เข้าใจคำว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข พ่อแม่ติดโควิดด้วยกัน รักษาด้วยกัน พ่อจะพูดเสมอให้ดูแลแม่ โยสัมผัสได้ถึงความรักที่เขามีให้กัน”

พีเค เล่าว่า “เอาจริงๆนะเราอยู่เคียงข้างเขาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยขาดไปไหน เราไม่ขอออกความเห็นเพราะเราไม่มีความรู้ แต่สิ่งที่ทำได้คือนั่งอยู่ข้างๆ อยากให้ช่วยอะไรบอกขอ 100 จะให้ 150 แค่นั้น ตั้งแต่รู้จักกันมาคุณแม่ของโยเป็นคนเข้มแข็งพอได้ยินแบบนั้นเราก็แบบเฮ้ยมันหนักขนาดนี้แล้วหรอ ในหัวเรายังคิดว่าหมอให้ยา 2-3 วันแล้วกลับ แต่พอโยเล่าให้ฟังว่าเรื่องราวมันเป็นแบบนี้ เราก็คิดแล้วว่าพ่อจะเป็นยังไง”