ประชากร 184,800 คนของอำเภอเจี้ยนชวน เขตปกครองตนเองชนชาติป๋าย เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พ้นสภาพแห่งความยากจนแร้นแค้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2563 โดยอาศัยเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเฟื่องฟูของประเทศจีน

มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการเกษตรจีนปัจจุบันอยู่ที่ 1,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ขณะที่ค่าจีดีพีหรือมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยรวมอยู่ที่ 5,900 ล้านหยวน.

ไม่นานมานี้ จีนได้ประกาศความสำเร็จในการต่อสู้กับความยากจนขั้นรุนแรงในประเทศ และตอนนี้ก็เป็นก้าวต่อไปสำหรับเป้าหมาย “การฟื้นฟูชนบท” แนวความคิดนี้เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของแผนห้าปีฉบับที่ 14 ของจีน มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพในชนบทให้ดียิ่งขึ้น และลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ชนบทและเขตเมืองที่พัฒนาแล้ว

ฝู ชิงหยุน รองนายอำเภอคนที่ 1 ของอำเภอเจี้ยนชวน กล่าวว่า แม้ว่าทุกครัวเรือนจะอยู่เหนือเส้นความยากจน ก็ยังมีพื้นที่ด้อยพัฒนาภายในมณฑลที่ขึ้นชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพสูง แต่ขาดช่องทางการขายและขนส่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกษตรกรและธุรกิจในท้องถิ่นต้องเผชิญ ศูนย์อีคอมเมิร์ซของอำเภอเจี้ยนชวนจึงได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์หลายแห่ง รวมถึง JD.com, Taobao และ Yunshow.com

ธุรกิจในท้องถิ่นมากกว่า 58 แห่ง ร่วมจัดตั้งศูนย์อีคอมเมิร์ซขึ้นเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เช่น มันแดง ถั่วแดง เมล็ดคีนัว และวอลนัท ให้ลูกค้านอกพื้นที่ โดยการตลาดแบบอีคอมเมิร์ซและแบบไลฟ์สดเหล่านี้สามารถช่วยลดต้นทุนการจัดจำหน่าย

“แพลตฟอร์มของเราได้เปิดช่องทางพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ชนบทและช่วยให้พวกเขาออนไลน์ได้เร็วขึ้น” เหลิง จิ้ง ซีอีโอของไอดอล กรุ๊ป บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศในเซี่ยงไฮ้กล่าว “จากนั้นพวกเขาก็จะได้รับเงินอย่างรวดเร็ว โดยปกติพวกเขาจะได้รับรายได้จากการขาย 80% ภายใน 7 วันของการส่งสินค้า”

ส่วนพนักงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มไลฟ์สด ระบุว่า “ผลิตภัณฑ์จากชนบทกำลังได้รับความนิยม มียอดขายดีกว่าสินค้าขายดีอย่างรองเท้าหรือกระเป๋า โดยยอดขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรพุ่งขึ้นอย่างน้อยห้าหรือสิบเท่า”

พนักงานคนดังกล่าวยังให้ข้อมูลว่า แม้ราคาของผลิตภัณฑ์จากชนบท โดยทั่วไปจะต่ำกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่มีปริมาณการขายสูง และผู้บริโภคจำนวนมากจะซื้อสินค้าสองหรือสามอย่างพร้อมกัน

การขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ชนบทอย่างต่อเนื่องทำให้การขายสินค้าทางการเกษตรและสินค้าอื่น ๆ ของชาวจีนในพื้นที่เหล่านี้ทำได้ง่ายขึ้น จีนเริ่มต้นโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลในชนบทในปี 2561 โดยโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น เครือข่ายใยแก้วนำแสงไวด์แบนด์ เครือข่าย อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เครือข่ายทีวีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ทั้งหมด มีกำหนดที่จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

แหล่งข้อมูลและภาพ :

https://news.cgtn.com/news/2021-11-13/China-s-e-commerce-boosts-agricultural-sales-in-countryside–159yxZNJtpS/index.html?fbclid=IwAR0exF6uQ4vm2gVCgAO3FwNKUSV_7AZXuPCsU5cV24pWcNdCSvzotmslpV0

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=379691847232702&id=117547923447097