เมื่อวันที่ 12 ก.ค.นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยถึงมาตราการการดูแลการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆของโรงเรียนเอกชนและผู้ปกครอง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติโดยไม่มีเรื่องขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะเราจะไหลไปตามกระแสเรียกร้องอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งสช.เข้าใจดีว่าทุกฝ่ายมีความทุกข์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ด้วยกันทั้งสิ้น และหากมองในมุมผู้ปกครองศธ.เข้าใจถึงสภาวะแบบนี้ผู้ปกครองก็ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเราพยายามหาจุดที่ลงตัวในการแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด ขณะที่ฝ่ายโรงเรียนเองก็ไม่มีใครรู้สถานะภาพของโรงเรียนเอกชนได้ดีเท่ากับสช. โดยขณะนี้โรงเรียนเอกชนมีอยู่ 4,000 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐหรือรับเงินอุดหนุนเพียง 70%ของค่าใช้จ่ายรายของหัวภาครัฐ ประมาณ 3,000 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศลที่รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ 100%จึงไม่จำเป็นต้องไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆอีก ซึ่งดำเนินการคล้ายกับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เลขาธิการกช.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับสูงจะอยู่ในกลุ่มโรงเรียนเอกชนประเภทนานาชาติกับโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญที่เปิดหลักสูตร English Program หรือห้องเรียนพิเศษ ซึ่งผู้ปกครองเองคงพอใจคุณภาพที่จะเลือกให้บุตรหลานเข้าเรียนมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อเกิดสถานณ์โควิดเมื่อปี 2563 จนส่งกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยสช.ได้เก็บข้อมูลการคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเอกชนให้แก่ผู้ปกครองพบว่ามีการคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็นเงินจำนวน 600 กว่าล้านบาทแล้ว ซึ่งจะคืนในจำนวนที่มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนแต่ละแห่ง ส่วนในปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเอกชนประเภทสามัญในกทม.ได้ส่งประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษามาเสนอให้สช.รับทราบแล้วจำนวน  404 แห่ง ซึ่งตนกำชับไปแล้วว่าหากเป็นไปได้ขอให้ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือหากลดค่าธรรมเนียมการศึกษาไม่ได้ก็ให้ตรึงราคาไว้ก่อน รวมถึงหากไม่สามารถตรึงราคาได้ สช.อนุญาตให้ขึ้นราคาค่าธรรมเนียมการศึกษาได้กับนักเรียนใหม่แทน ซึ่งเท่าที่ทราบการรับนักเรียนชั้นม.1 ในปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนเอกชนจำนวนนักเรียนไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ยังมีการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนเท่าเดิม ขณะเดียวกันในส่วนที่ผู้ปกครองยังค้างค่าธรรมเนียมการศึกษากับโรงเรียนนั้นโรงเรียนจะต้องไม่นำเรื่องนี้ให้มามีผลกระทบต่อการเรียนของเด็กอย่างเด็ดขาด

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้สช.พบโรงเรียนเอกชนในกทม.จำนวน 2 แห่งที่ไม่ยอมลดค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยสช.จะทำหนังสือเสนอน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 34 ของพ.ร.บ.การศึกษาเอกชน พ.ศ.2554 ที่ระบุว่ารัฐมนตรีศึกษาธิการสามารถสั่งปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษาได้หากเห็นว่าการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นภาระแก่ประชาชนเกินควร อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้สช.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองพบว่า มีโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในจ.ชลบุรี ไม่ได้มีการลดค่าธรรมเนียมการศึกษา แต่กลับมีการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาในส่วนอื่นแทนโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสช.ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ อย่างไรก็ตามขณะนี้สช.ได้รับหนังสือร้องเรียนเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษากว่า 50 ฉบับ ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งวอร์รูมขึ้น เพื่อพิจารณเรื่องดังกล่าวโดยจะให้ความเป็นธรรมกับผู้ปกครองและโรงเรียนอย่างดีที่สุด

“ขณะนี้โรงเรียนเอกชนกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราการที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติยิ่งทำให้ผู้ปกครองมาจ่ายค่าเทอมล่าช้า ซึ่งเท่าที่สำรวจมีผู้ปกครองมาจ่ายค่าเทอมให้แก่โรงเรียนยังไม่ถึง 50% เนื่องจากผู้ปกครองมีความรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์ยังไม่ถือว่าเป็นการเปิดภาคเรียน ขณะที่โรงเรียนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าเดิม เช่น ค่าจ้างครู เป็นต้น ดังนั้นจากผลกระทบเหล่านี้จึงส่งผลให้ศธ.ต้องหารือกับกระทรวงการคลังให้ใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) โดยหาแหล่งเงินกู้ เช่น ธนาคารต่างๆ มาให้โรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาได้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำในวงเงินที่สูง เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่โรงเรียนเอกชน ทั้งนี้สช.ยืนยันว่าจะไม่ให้โรงเรียนเอกชนขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาอย่างเด็ดขาด และเป็นปีแรกที่โรงเรียนจะต้องส่งประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษามาให้สช.พิจารณา เพราะโรงเรียนต้องเขียนประกาศค่าธรรมเนียมให้ชัดเจนว่ารายการไหนเก็บได้หรือรายการไหนไม่ควรเรียกเก็บ เช่น ค่าเรียนพิเศษ ค่าเรียนว่ายน้ำ โรงเรียนจะบังคับเรียกเก็บในส่วนนี้จากผู้ปกครองไม่ได้ จะต้องเป็นความสมัครใจในการเลือกเรียนเอง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ปกครอง” นายอรรถพล กล่าวและว่า  ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายอยากให้มีการลดค่าเทอมมากกว่าค่าธรรมเนียมการศึกษานั้นต้องชี้แจงว่าประเด็นนี้โรงเรียนเอกชนยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในจำนวนที่สูงไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างครูต่างชาติ เงินเดือนครูเอกชน เพราะเมื่อจัดการเรียนการสอนไม่ได้ตามสถานการณ์ปกติแต่โรงเรียนยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างครูผู้สอนอยู่