น.ส.แซนดี้ เฉิน รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ กล่าวว่า Digital Commerce เป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การแข่งขันที่มีความกดดันสูงและความจำเป็นที่ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงการมาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งผู้นำและนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นสามารถใช้วงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ หรือ (Hype Cycle) พิจารณาว่าเทคโนโลยีใดที่กำลังจะหายไปตามกาลเวลา หรือดูว่าเทคโนโลยีใดที่กำลังมาแรงและมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจ โดยเข้าใจในความสามารถและวิเคราะห์ถึงผลกระทบของแต่ละเทคโนโลยีที่มีต่อธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจใช้ทรัพยากรที่อยู่ในมือได้อย่างชาญฉลาด

ทั้งนี้เทคโนโลยีการจัดการการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (CIAM) กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallets) การตั้งค่าแบบเวอร์ชวล (Visual Configuration) และผู้ช่วยเสมือน (VCA) ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในวงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ในปี 64 ซึ่งเทคโนโลยีที่อยู่ในเฟสนี้สามารถมอบประโยชน์แก่องค์กรได้อย่างชัดเจนและจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อย่างแพร่หลายต่อไป และจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อ Digital Commerce

เทคโนโลยีการจัดการการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Customer Identity and Access Management – CIAM)

เครื่องมือต่าง ๆ ของเทคโนโลยี CIAM ช่วยจัดการการเข้าถึงข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสอบความถูกต้อง และการขออนุญาตเพื่อใช้ข้อมูลในการยืนยันตัวตนจากภายนอก รวมถึงกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวและการพึ่งพาการสื่อสารทางไกลที่เพิ่มขึ้นทำให้เทคโนโลยี CIAM มีความสำคัญต่อธุรกิจและลูกค้ามากขึ้น

“เทคโนโลยี CIAM ยังมีส่วนสำคัญช่วยพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า (CX) ทั้งกับธุรกิจในแบบ B2C และ B2B หรือธุรกิจในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว (Gig economy) รวมถึงธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทภาครัฐกับประชาชน (G2C) ภายในสิ้นปี 64 องค์กรธุรกิจ 86% จะแข่งขันกันบนพื้นฐานของการพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า (CX) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่คล้ายคลึงกัน ประสบการณ์ออนไลน์จะเป็นชี้ตัววัดและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้” น.ส.เฉิน กล่าว

เทคโนโลยีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallets)

กระเป๋าเงินดิจิทัลสร้างขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสด้านการใช้จ่ายให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ผ่านอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ โดยเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์มากมาย อาทิ อำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า และยังเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านค้า ตามที่หลากหลายอุตสาหกรรมนำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ อาทิ บริการที่จอดรถ บริการทางด้านการขนส่ง การค้าปลีกและการพาณิชย์ดิจิทัล ถ้าหากธุรกิจใดที่ยังไม่มีบริการกระเป๋าเงินดิจิทัลรองรับอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนลูกค้าและรายได้ เสียเปรียบคู่แข่งในการแข่งขัน

เทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือน (Virtual Customer Assistants – VCA)

เทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือน (VCA) คือแอพพลิเคชันที่สร้างการมีส่วนร่วม สื่อสารผ่านข้อมูล และ/หรือดำเนินการในนามขององค์กรต่อลูกค้า การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ได้เร่งการนำเทคโนโลยี VCA มาปรับใช้อย่างรวดเร็ว และในบางเคสของการใช้งานได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีเคสใช้งานใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย อาทิ บริการด้านสุขภาพหรือการนำมาใช้ทำการตลาดของแบรนด์ก็กำลังมาแรงเช่นกัน

ในเวลานี้เทคโนโลยี VCAs ถูกนำมาใช้เป็นจุดบริการเพื่อสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลาย ซึ่งสามารถต่อยอดในการให้คำปรึกษาเชิงรุกและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความภักดีและความพึงพอใจของลูกค้าต่อแบรนด์ได้

เทคโนโลยีการตั้งค่าแบบเวอร์ชวล (Visual Configuration)

การตั้งค่าแบบเวอร์ชวล (Visual Configuration) ช่วยให้ตัวแทนขายและลูกค้าปลายทางเห็นรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสั่งซื้อพร้อมแสดงออพชั่นและฟีเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการทำธุรกรรมแบบ B2B ช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนผ่าน Digital Commerce โดยไม่ต้องฝึกอบรม องค์กรกลุ่มแรกที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมของตนจะสร้างความได้เปรียบในด้านการแข่งขันและช่วยประหยัดต้นทุน ซึ่งการปรับปรุงเทคโนโลยีล่าสุด อาทิ ความสมจริงของภาพ ทำให้การนำเทคโนโลยี Visual Configuration ไปใช้ในอุตสาหกรรม Digital Commerce เติบโตอย่างรวดเร็วในวงกว้างยิ่งขึ้น