เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพ (สปสช.)  กล่าวว่า การที่รัฐอนุญาตให้ประชาชนสามารถตรวจหาโควิด-19 ได้ โดยใช้ชุดตรวจแอนติเจน แรปิดเทสต์ นั้นเป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดสรรให้ฟรี ไม่ควรมีการเก็บเงิน การตรวจหาโควิด-19 นั้นเป็นชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบหลักประกันสุขภาพ และเป็นบทบาทของรัฐอยู่แล้วที่ต้องกำกับควบคุมโรคระบาด ดังนั้นการตรวจต้องฟรี และมีแหล่งที่รัฐจัดซื้อได้ถูก ซึ่งในวันที่ 14 ก.ค. นี้ อนุกรรมการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สปสช. จะมีการประชุมเรื่องการจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน  

“เพราะฉะนั้นไม่ควรมาเก็บเงิน หลักการต้องฟรี เป็นสิทธิประโยชน์ ทุกคนเข้าถึงการตรวจได้โดยสะดวก ส่วนว่าถ้าคนจะไปหาซื้อด้วยตัวเองก็เป็นไปตามกำลังความสามารถ แต่รัฐต้องจัดฟรี อย่างเพียงพอ” นายนิมิตร์ กล่าว

เมื่อถามว่าถ้ายังให้มีการซื้อ ซึ่งราคาแพงเป็นภาระประชาชน กลายเป็นทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ที่คนมีเงินถึงจะเข้าถึงได้หรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า รัฐต้องมีการจัดสรรให้ฟรีในปริมาณที่เพียงพอก่อน และจัดระบบดีๆ บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เรารู้อยู่แล้วว่ามีคนตามทะเบียนบ้าน ตามชุมชนต่างๆ สามารถจัดการได้ หากจะจัดการจริงๆ เช่น ชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับ กทม. นั้นจะมีผู้นำชุมชน มีอาสาสมัคร มีครัวเรือนชัดเจน ก็แจกจำนวนตามนั้นผ่านระบบอาสาสมัคร ส่วนชุมชนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็จะมีการออแกไนซ์ จัดการอยู่ โดยกรรมการชุมชนบางส่วนก็เข้าไป หมู่บ้านจัดสรรก็มีนิติบุคคลที่มีรายละเอียดลูกบ้านว่ามีกี่ครัวเรือน มีประชากรเท่าไหร่ หรือในบริษัท ที่ทำงานจะรู้จำนวนคน ก็จัดสรรตามนั้น ผ่านไปรษณีย์ เป็นต้น ไม่ต้องให้คนเดินมาหา

เมื่อตรวจที่บ้านแล้วคนที่มีผลบวกอาจจะมีความตกใจ อีกทั้งรัฐกำหนดว่าต้องมีการตรวจซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR จะเกิดปรากฏการณ์แห่ไปตรวจที่สถานพยาบาลเหมือนเดิม จะต้องวางระบบแก้ปัญหานี้อย่างไร นายนิมิตร์ กล่าวว่า ต้องมีแผนรองรับ เพราะการตรวจแอนติเจนคือการตรวจหาชิ้นส่วนของไวรัส ที่จะบอกได้ว่าร่างกายเคยมีไวรัสเข้าไป หากตรวจเจอผลบวก ไม่มีอาการอะไร ก็ให้ทำระบบดูแลตัวเองที่บ้าน เป็น Home Isolation แต่ระบบนี้ต้องเข้มแข็งกว่านี้ มีคนมอนิเตอร์ ติดตาม มีการส่งยาฟ้าทะลายโจร ตามบ้านได้ แต่ต้องบอกกับทุกคนว่า ในชุดตรวจที่ส่งไปนั้น ต้องบอกประชาชนให้ชัดว่าหากมีผลบวกแล้วต้องทำอะไร 1, 2, 3, 4 จะทำกักตัวที่บ้าน หรือในชุมชน (Community Isolation) ที่ไหน อย่างไร ติดต่อใคร บอกให้ชัด ต้องมีการเตรียมการรองรับตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ทำแค่ชุดตรวจอย่างเดียว  

“ถ้าเป็นบวกแล้วไม่มีอาการอะไรก็ไม่ต้องตรวจคอเฟิร์ม RT-PCR ก็ได้ ถ้ามีอาการค่อยมาตรวจคอนเฟิร์ม เพราะถ้าเราตรวจคอนเฟิร์มทุกรายจะไปตรวจแอนติเจนทำไม ไม่อย่างนั้นคนก็แห่เข้าไปตรวจแน่นที่ รพ. หรือแล็บเหมือนเดิม” นายนิมิตร์ กล่าว

เมื่อถามว่าในส่วนที่จะให้ประชาชนซื้อได้ ต้องจัดให้เป็นสินค้าควบคุมด้วยหรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า “ในส่วนของที่จะเปิดให้ประชาชนซื้อ ต้องเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งปกติก็เป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว แต่ในภาวะแบบนี้ต้องเป็นสินค่าที่ควบคุมทั้งคุณภาพและเรื่องราคาด้วย”.