สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) มีมติเป็นเอกฉันท์ ในการออกแถลงการณ์ เมื่อวันศุกร์ แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคทิเกรย์ ทางตอนเหนือของเอธิโอเปีย ที่การสู้รบยืดเยื้อยาวนานกว่า 1 ปี เรียกร้อง “คู่กรณีทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง อันจะเป็นการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยก”


ขณะเดียวกัน ยูเอ็นเอสซียังเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายในเอธิโอเปีย เคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และการเปิดเส้นทางปลอดภัยเพื่อการลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่พลเรือน ตลอดจนการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน


ทั้งนี้ รายงานของสหประชาชาติระบุว่า สงครามในภูมิภาคทิเกรย์ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 ราย และประชาชนมากกว่า 7 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคน ยังคงอาศัยอยู่ในภูมิภาคทิเกรย์


อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในที่ประชุมให้ข้อมูลด้วยว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นเพียงฉบับที่ 2 เท่านั้น ที่ยูเอ็นเอสซีมีท่าทีเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างกองทัพเอธิโอเปีย กับแนวร่วมปลดปล่อยชาวทิเกรย์ (ทีพีแอลเอฟ) ในการเผยแพร่แถลงการณ์ช้ากว่ากำหนดการนานหลายวัน เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากสมาชิกทั้ง 15 ประเทศเท่านั้น และ “ต้องมีการประนีประนอม” กับรัสเซีย

เนื่องจากรัฐบาลมอสโกและจีน ซึ่งเป็น 2 ใน 5 สมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี นอกเหนือจาก สหรัฐ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส มองว่า วิกฤติการณ์ในทิเกรย์ “เป็นกิจการภายในของเอธิโอเปีย” และเป็นการส่งสัญญาณด้วยว่า การที่ยูเอ็นเอสซีจะออกมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคลใดในเอธิโอเปียและทิเกรย์นั้น “แทบเป็นไปไม่ได้”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES