เฟซบุ๊กอิงค์ประกาศเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ว่า บริษัทจะปิดระบบจดจำใบหน้าของแอพ ซึ่งเป็นระบบที่ระบุตัวตนของผู้ใช้งานในรูปถ่ายและวิดีโอโดยอัตโนมัติ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวของสังคมที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“หน่วยงานกำกับดูแลอยู่ในระหว่างการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งานระบบ” เจอโรม เพเซนติ รองประธานฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ของเฟซบุ๊กเขียนโพสต์ไว้ในบล็อกของเขา “ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ เราเชื่อว่าการจำกัดการใช้ระบบจดจำใบหน้าให้น้อยลงไว้เฉพาะบางกรณีเป็นสิ่งที่เหมาะสม”

มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ค้าปลีก โรงพยาบาลและธุรกิจอื่นๆ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านรักษาความปลอดภัย อาจเสี่ยงที่จะละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เปราะบาง และทำให้การเฝ้าติดตามที่เข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องปกติไป

วงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังเผชิญหน้ากับการพิจารณาด้านจริยธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทไอบีเอ็มได้ยุติการขายผลิตภัณฑ์ระบบจดจำใบหน้าไปอย่างถาวรแล้ว ส่วนไมโครซอฟท์ คอร์ป และอะเมซอน อิงค์ ก็ระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้หน่วยงานของตำรวจอย่างไม่มีกำหนด

การประกาศของเฟซบุ๊กครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่บริษัทกำลังอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงการละเมิดหลากหลายรูปแบบบนแพลตฟอร์มของบริษัท

เฟซบุ๊กกล่าวว่า มากกว่าหนึ่งในสามของผู้ใช้ที่ใช้งานรายวันของเฟซบุ๊ก เลือกใช้การตั้งค่าเพื่อจดจำใบหน้าบนโซเชียลมีเดีย และการเปลี่ยนแปลงนี้จะลบจำนวนการจดจำใบหน้าของผู้คนมากกว่า 1,000 ล้านคน

โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่า จะเริ่มต้นลบระบบนี้พร้อมกันทั่วโลก และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม แต่เฟซบุ๊กไม่ได้ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยกล่าวว่ายังคงมองว่าเป็น “เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ” สำหรับการยืนยันตัวตน

ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าของบริษัทโดนตรวจสอบอย่างเข้มงวดมานานแล้ว คณะกรรมาธิการกำกับดูแลการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐได้รวมเรื่องนี้ไว้กับข้อกังวลอื่น ๆ เมื่อทำการปรับเงินเฟซบุ๊กเป็นจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 166,707 ล้านบาท) เพื่อยุติคดีร้องเรียนเรื่องความเป็นส่วนตัวในปี 2562

เมื่อต้นปีนี้ ผู้พิพากษาตัดสินให้เฟซบุ๊กจ่ายค่าเสียหาย 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21,671 ล้านบาท) ในคดีที่ยื่นฟ้องแบบกลุ่มต่อเฟซบุ๊กในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งกล่าวหาว่าบริษัทได้รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ของผู้ใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการ

เครดิตภาพ : Reuters