กระทรวงศึกษาธิการ องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) Save the Children และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้นำการศึกษา 13 ประเทศ โดยการประชุมได้ให้คำมั่นเดินหน้าร่วมมือยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนและติมอร์-เลสเต โดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูการศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมชูบทบาท “ครู” ในฐานะฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยสร้างการเข้าถึงการศึกษาในทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยบรรลุหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง  ความเห็นชอบและคำมั่นสัญญาข้างต้น มีขึ้นในช่วงสรุปผลการประชุมวิชาการวาระพิเศษระดับภูมิภาคเพื่อครู และความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านระบบ virtual เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งจัดขึ้นควบคู่กับการพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อยกย่องเชิดชูครูผู้ทุ่มเทอุตสาหะและอุทิศแรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของลูกศิษย์ในอาเซียน
 
ทั้งนี้ ในช่วงสรุปผลการประชุม ภายใต้แนวคิดหลัก “สารแห่งความหวังและความร่วมมือเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Way Forward: A Message of Hope and Engagement for Teachers and Equitable Education)” ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วิกฤตของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้จำเป็นต้องมีมาตรการปิดโรงเรียนเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด กลายเป็นแรงกดดันที่บีบให้การเรียนการสอนของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก นั่นคือ การเรียนทางไกล ที่ไม่ได้มีเพียงแต่นักเรียนเท่านั้นที่ต้องปรับตัว ครูในฐานะผู้สอนก็จำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มทักษะขนานใหญ่ให้การศึกษายังมีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ข้อจำกัดและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการไทยก็เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในส่วนที่ครูและนักเรียนต้องเผชิญเป็นอย่างดี จึงได้มีการดำเนินการโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินชดเชยแก่นักเรียนรายละ 2,000 บาท เพื่อช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนทางไกล การสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเครือข่ายครูให้มีพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูลและความรู้ต่างๆ และการจัดคอร์สฝึกอบรมเพื่อเสริมทักษะการเรียนการสอนของครู โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโลยีดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิผลสูงสุด

“การจัดงานประชุมในครั้งนี้ที่ทำให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องบทบาทของครู ซึ่งที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการทำงานผลักดันเพื่อพัฒนาทักษะของครูไทยทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเดินหน้ายกระดับการศึกษาไทย เพราะเข้าใจดีว่า ความสามารถของครู คือหัวใจสำคัญของคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ และการสร้างครูที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ครูได้รับ การพัฒนาขีดความสามารถ การฝึกอบรมที่มีคุณภาพสูง  ตอบโจทย์แนวทางการศึกษาของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง” ดร.สุภัทร กล่าว

นายสุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้แสดงให้เห็นเรื่องราวมากมายที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์สำคัญให้กับการพัฒนาการศึกษาของไทย โดยเฉพาะการเสริมสร้างทักษะความสามารถของครู ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและมีความเสมอภาค และในฐานะองค์กรเล็กๆ ที่ตั้งเป้าเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาของไทย กสศ. ตระหนักถึงขีดความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่นเดียวกับที่ตระหนักถึงความสำคัญของแรงสนับสนุนจากพันธมิตรในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้น กสศ.จึงเชื่อมั่นในเรื่องของการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในสังคมวงกว้าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยนอกจากจัดการในเรื่องของการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดแล้ว กสศ. ยังได้ร่วมกับภาคีในการจัดสร้างฐานข้อมูลด้านการศึกษา รวมถึงการเดินหน้าผลักดันงานศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวทางศึกษาใหม่ๆ ซึ่งให้เกิดผลลัพธ์การศึกษาที่ดีที่สุดต่อนักเรียนและครู จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย

ขณะที่ คยองซัน คิม  ตัวแทนจาก กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญของตัวชี้วัดคุณภาพทางการศึกษา ก็คือความเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งหมายถึง การศึกษาที่คนทุกคน ไม่ว่าจะมีภูมิหลังเชื้อชาติ ภาษาใด ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือมีข้อจำกัดติดขัดใดๆ ก็สามารถเอื้อมถึงได้ แตะต้องได้เหมือนกัน และได้เท่ากัน ดังนั้นครูในฐานะผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญที่ไม่ควรถูกละเลย เพราะทักษะความสามารถของครูที่ดี ย่อมส่งผ่านต่อไปถึงการพัฒนาที่ดีของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนที่มีข้อจำกัด เช่น เด็กด้อกยโอกาส เด็กยากจน เด็กชายขอบ และเด็กพิการทุพพลภาพ ก็ยิ่งต้องการ “ครู”  เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศย่อมมีแนวทางการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น ยูนิเซฟจึงพร้อมและยินดีรับหน้าที่ในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้โครงการต่างๆ ของหลายหน่วยงานในหลายประเทศ รวมถึง องค์กรอย่าง กสศ. และ องค์กรความร่วมมือเพื่อเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ให้สามารถดำเนินการได้อย่างลุล่วงราบรื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในด้านเงินทุน การให้ข้อมูลความรู้ และการร่วมมือศึกษาพัฒนาวิจัย
 
ส่วน นายประเสริฐ ทีปะนาท ผู้อำนวยการองค์การ Save the Children ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในปราการที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องสิทธิเด็กก็คือ ครู และครูที่มีทักษะความสามารถ มีประสิทธิภาพในการเรียนการสอน มีแนวคิดและจิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่เพียงทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่จะช่วยให้เสียงของเด็กดังพอที่สังคมวงกว้างจะได้ยิน รวมถึงป้องกันการถูกล่วงละเมิดในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า ครู มีบทบาทและภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่จำเป็นและขาดไม่ได้ของการศึกษาที่มีคุณภาพและมีความเสมอภาค อันจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
ด้าน ดร.อีเทล แอกเนส พี. วาเลนซูเอลา ผู้อำนวยการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) กล่าวว่า นอกจากจะต้องมุ่งพัฒนาทักษะการเรียนการสอนของครูอย่างจริงจังแล้ว ยังแนะนำให้องค์กรรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมด้านการศึกษาในอาเซียนให้ความสำคัญของการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัลของครูด้วยเช่นกัน ที่ไม่เพียงแต่ต้องรู้จักวิธีประยุกต์ใช้งานได้คล่องแคล่วเท่านั้น แต่ยังต้องรู้เท่าทัน และมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างเทคโนโลยีการสอนที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบททางสังคมของตนเองขึ้นมา เชื่อว่าครูที่มีทั้งทักษะการสอนและทักษะทางดิจิทัล จะช่วยยกระดับอัตราการรู้หนังสือของคนภายในภูมิภาค และขอให้นานาประเทศยกระดับการศึกษาให้เพิ่มขึ้นไปอีกขั้น นั่นคือนอกจากจะต้องใส่ใจกับครูในระดับปฐมวัย หรือเด็กเล็กๆ แล้ว ยังต้องหาแนวทางเพิ่มจำนวนเด็กให้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปจากระดับประถมศึกษาให้ได้
 
ด้าน ชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จะมุ่งส่งเสริมสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษาให้สอดคล้องและควบคู่ไปกับกระแสทิศทางของโลกในยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมดิจิทัล (Digital Transformation) ที่ครูและนักเรียนจำเป็นต้องมีทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์โลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการให้ความรู้ ทักษะ และเครื่องมือแก่ครูเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน จะมีผลโดยตรงต่อการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ช่วยให้เด็กทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้อย่างเท่าเทียม และยูเนสโก ก็พร้อมที่จะเดินหน้าสนับสนุนช่วยเหลือ ตลอดจนเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาทั่้วโลก
 
ขณะที่ อิชิโร มิยาซาว่า รักษาการหัวหน้า องค์การยูเนสโก สำนักงานเมียนมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า คุณลักษณะของครูผู้สร้างความเสมอภาคทางการศึกษามีทั้งหมด 7 ประการด้วยกันคือ 1.ดูแลเอาใจใส่และเคารพให้เกียรติเด็กแต่ละคน ซึ่งรวมถึง จุดแข็งและจุดอ่อนของเด็ก ทำให้พวกเขาเปล่งประกายในแนวทางความถนัดของตนเอง 2.สนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ เพื่อให้พวกเขามีความเชื่อมั่นในตัวเอง 3.เป็นครูผู้กระหายใคร่รู้ อ่อนน้อมถ่อมตน และกระตือรือร้นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 4.รู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่น น้อมรับความเสี่ยง มีภาวะผู้นำ และปรับตัวได้ 5.มีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการฟัง ให้ความเพลิดเพลิน และส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆ ได้พูดและคิดอย่างมีวิจารณญาณ 6.ทำความเข้าใจการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ รวมถึงทักษะทางจิตสังคม และ 7.รู้จักประยุกต์เชื่อมโยงการศึกษากับชีวิตจริงเพราะครูที่ดีที่สุดไม่ใช่ครูที่เก่งที่สุด แต่เป็นครูที่รู้ว่าลูกศิษย์ของตนมีดีอะไร แล้วหยิบยกคุณสมบัตินั้นขึ้นมาขัดเกลาหรือทำให้ลูกศิษย์ตระหนักถึงข้อดีเหล่านั้น เพื่อให้กลายเป็นคนคุณภาพของสังคม.