“วช.เข้ามาในยุคของ Generation ถ้านับเป็นช่วง 10 ปีก็เป็น Generation ที่ 6 เข้า 7 แล้ว เพราะฉะนั้น บทบาทขณะนี้ของ วช.จะเป็นหน่วยบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศที่มีการเติบโตและต้องมีการปรับเปลี่ยนในเชิงของการทำงานร่วมกับตัวโครงสร้างใหม่ๆ ที่เกิดในการวิจัยและนวัตกรรม” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงบาทของ วช.พร้อมกล่าวต่อว่า “รูปแบบการทำงานต่อจากนี้ วช.จะไม่ได้มองเฉพาะการทำหน้าที่ในการให้ทุนอุดหนุนวิจัย แต่เราจะมองในเรื่องของการวางเป้าหมายที่ให้ผลสำเร็จที่ตอบโจทย์ในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ทั้งในลักษณะของยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนแม่บท ซึ่งมีเรื่องวิจัยนวัตกรรมเป็น 1 ใน 20 กว่าแผน แล้วที่สำคัญเรามียุทธศาสตร์ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือด้าน ววน. ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ที่มีความท้าทายของ วช. ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในการปฏิรูปที่ วช.ต้องทำให้เกิดการวางยุทธศาสตร์ในการทำงาน ก็คือการมีนวัตกรรมด้านกองทุน ววน. ซึ่งรูปแบบของการดำเนินการภายใต้การรับงบประมาณจากกองทุนก็มีความแตกต่างจากการรับงบประมาณในระบบงบประมาณเดิมที่ วช. และอีกหลายๆหน่วยได้รับ”


ขณะเดียวกันยังมีในเรื่องของนวัตกรรมทางการบริหาร เรื่องของการมีบอร์ดระดับประเทศใหม่เกิดขึ้น คือสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเดิมเรื่องอุดมศึกษา เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการวิจัย เรื่องนวัตกรรม 4 อย่างนี้แยกหมด แต่ตอนนี้ถูกจับมัดรวมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายภายใต้บอร์ดเดียว มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวง อว.เป็นเลขานุการ ยังมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ทำหน้าที่ในการจำกัดกองทุน ววน. ซึ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมในการบริหารที่ วช.จะต้องเข้าไปทำงานและก็วางหมุดหมายในการทำงานร่วมกับความสามารถที่เกิดขึ้นใหม่ ฉะนั้น วช. ต้องมีความมุ่งมั่นเข้มแข็ง และมีการวางความปรารถนาหรือความอยากที่ทำให้คนของ วช. สามารถที่จะทำงานในความหลากหลายของมิติในการบริหารที่เกิดขึ้นได้อย่างท้าทาย

“วช.เป็นหน่วยงานราชการก็จริง แต่ วช.ไม่มีข้อติดขัดในการทำงานภายใต้ระบบใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม วช.สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีความหลากหลายแตกต่างในฐานะหน่วยงานราชการ และมีผลสำเร็จที่สามารถเชื่อมโยงกับบทบาทหน้าที่หลักของ วช. ได้อย่างไม่ติดขัด ฉะนั้นในการวางเป้าหมายในการเติบโตของ วช. ต่อจากนี้ วช. สามารถที่จะวางกลไกการทำงาน วางรูปแบบแผนงาน การวางเป้าหมายในการทำให้เกิดความสำเร็จ โดยเฉพาะตอนนี้ประเทศพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหมุดหมายหลัก ฉะนั้นงานที่ วช. ให้การสนับสนุนจะไม่ได้เกิดเฉพาะของการมีชุดความรู้ แต่เราจะมีชุดข้อมูล มีกลไก มีกระบวนการ มีเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ตอบโจทย์ในแต่ละหมุดหมายตามยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาสร้างกำลังคน นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง หรือนักวิจัยขั้นแนวหน้า ในแต่ละความต้องการของเทคโนโลยีของประเทศ วช. วางในเรื่องของกลไกการทำงานแบบนี้รองรับไว้แล้ว” ดร.วิภารัตน์ กล่าวและว่า
ในแต่ละปี วช.มีการสนับสนุนในเรื่องของนักวิจัยรุ่นใหม่หรือนักวิจัยในกำลังคนที่เป็นความต้องการของประเทศเป็นหลักหลายร้อยและก็สะสมเป็นหลักพันเป็นจำนวนมาก สามารถใช้ในการตอบโจทย์ตัวชี้วัดในระดับมาตรฐานสากล OECD หรือในเรื่องการทำงานที่เป็นเรื่องของการวัดและเปรียบเทียบสมรรถนะ วช.ทำเรื่องเหล่านี้อยู่ แล้วในเรื่องของตัวผลสำเร็จจากงานวิจัย ตอนนี้จะไม่ได้ทำงานเพื่อที่จะทำให้เกิดการสนับสนุนในเรื่องของความเชี่ยวชาญนั้นๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ว่าต้องเป็นการทำงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่ตอบโจทย์ความต้องการในเชิงของการยกระดับประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหา การวางเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งเชิงเศรษฐกิจ มิติคุณภาพทางด้านชีวิตและมิติคุณภาพทางด้านสังคม ซึ่งตรงนี้ วช. มีการวัดผลทั้งในเรื่องของตัวงานในเชิงของเป้าหมาย ในเรื่องของตัวการประเมินผลตอบแทนทางสังคม ในเรื่องของการทำงานร่วมกับภาคพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นเมื่อมีการปรับเปลี่ยนหรือจะต้องเดินต่อในช่วงระยะเวลาหลังจากนี้ วช. ก็สามารถจะเดินหน้าคู่กับหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. นอกกระทรวง แล้วก็สามารถที่จะรับนโยบายในเชิงของการขับเคลื่อนได้อย่างไม่ติดขัด 60 ปี วช. 62 ปี วช. และมากกว่านี้ วช.ก็สามารถเดินหน้าอย่างมั่นคงด้วยวิจัยและนวัตกรรม

“ที่สำคัญ วช.จะไม่ทำหลายอย่าง แต่จะทำอย่างเดียว แต่สามารถตอบโจทย์ได้หลายอย่าง” ดร.วิภารัตน์ ระบุ