เมื่อวันที่ 11 ก.ค.พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมพลศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง(หน.ศปม.) สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดสายตรวจในการลาดตระเวนเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติ การเดินทางข้ามพื้นที่อย่างเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต จำนวน 88 จุด ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดฯ ของบุคคลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด ให้บังคับใช้บทลงโทษตามแห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 

พล.ต.ธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า  เมื่อเวลา​ 21.00 น.วันที่​  10 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมพล​ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดตรวจ​ จุดสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และมอบแนวทางการปฏิบัติในการจัดพื้นที่บริเวณจุดตรวจให้มีความเข้มข้นสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเดินทางไปยังจุดตรวจจุดสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงาน ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 4.5 ขาออก ซึ่งรับผิดชอบโดย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพบก (ศปม.ทบ.) ประกอบกำลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต รวม 12 นาย ต่อผลัด และจัดกำลัง 3 ผลัดต่อวัน 

พล.ต.ธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นพล.อ.เฉลิมพล​   ได้เดินทางไปยังจุดตรวจจุดสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานบางเขนบริเวณถนนเทพรักษ์ ซึ่งรับผิดชอบโดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กองทัพอากาศ(ศปม.ทอ.) ซึ่งจัดกำลัง 1 ชุด รับผิดชอบสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่กรุงเทพเหนือ จำนวน 4​ เขต และกรุงเทพตะวันออก จำนวน 2 เขต แบ่งเป็น เขตดอนเมือง จำนวน 13 แคมป์ เขตสายไหม จำนวน 17 แคมป์ เขต หลักสี่ จำนวน 13 แคมป์ เขตบางเขน จำนวน 17 แคมป์ เขตคันนายาว จำนวน 9 แคมป์ และเขต บึงกุ่ม จำนวน 9 แคมป์ โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่ละเขตหากมีความจำเป็นในการเสริมกำลังทางสำนักงานเขตจะประสานชุดบูรณาการด้านความมั่นคงขอใช้กำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ ในเขตที่ได้รับมอบหมาย 

พล.ต.ธีรพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิบัติของจุดตรวจจุดสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น ได้มีการแบ่งพื้นที่เฝ้าระวังออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 พื้นที่แคมป์คนงานที่มีสภาพแออัดและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง การปฏิบัติจัด จนท.เฝ้าระวังฯ สายตรวจเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายและการเข้าออกของคนงานอย่างเคร่งครัด ระดับที่ 2 พื้นที่แคมป์คนงานที่มีสภาพไม่แออัดและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปานกลาง การปฏิบัติจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังฯสายตรวจเฝ้าระวัง ทุก 4 ชั่วโมง เพื่อทำการสำรวจยอดคนงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง และระดับที่ 3 พื้นที่แคมป์คนงานที่มีสภาพไม่แออัดและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ การปฏิบัติจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเฝ้าระวัง ทุก 8 ชั่วโมง ทำการสำรวจยอดคนงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งติดตามและรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินการ.