วันที่ 27 ตุลาคม ห้องประชุม ชั้น 1กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าวท่าทีประเทศไทยในเวทีการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ บอร์ดองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศจาก 197 ประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ได้แสดงความมุ่งมั่นและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหารือเพื่อนำไปสู่ข้อตัดสินใจร่วมกันทั้งในระดับการเมือง เพื่อกำหนดแนวทาง นโยบาย มาตรการและกลไกการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างยั่งยืน ส่วนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 (COP26) ในปีนี้ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักร ในฐานะประธาน COP 26 ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญของการประชุม ประกอบด้วย การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของโลก (global net zero emission) ภายในกลางศตวรรษ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อปกป้องชุมชนและระบบนิเวศ การระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วให้บรรลุตามเป้าหมายการเงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนา และการเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปต่อประเด็น ที่ยังคงค้างภายใต้แผนการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส และยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยจะประกาศและจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality เพื่อแสดงถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งต่อความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ คือ ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065 โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลัก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ ที่สอดคล้องกับกรอบแผนพลังงานชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2030 ในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ ๓๐ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี ค.ศ. 2030 การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน (Decarbonization) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน (Digitalization) การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน (Decentralization) การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ (Deregulation) และการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า (Electrification)

“ ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยมีมาตรการการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการปลูก และบำรุงรักษาป่าสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูกและฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5

ทั้งนี้ สำหรับการเข้าร่วมประชุม COP26 ประเทศไทยเน้นย้ำท่าทีของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ อย่างสมดุล นอกจากนี้ ในห้วงการประชุม COP26 ประเทศไทยจะมีการหารือทวิภาคี (Bilateral discussion and cooperation) ร่วมกับสมาพันธรัฐสวิส เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณานัดหมายการหารือร่วมกับ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ถึงโอกาสการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้าย.