เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ น.ส.พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นำตัวแทนผู้ประกอบการโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative Quarantine : AQ) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดีอีเอส และ พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (ผบก.สอท.1 ) กองบัญชาการตำรวจ สืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อให้ดำเนินการกับแฮกเกอร์ ที่แฮกระบบจองโรงแรมแล้ว หลอกให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีของแฮกเกอร์ สร้างความเสียหายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โรงแรม และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมที่เปิดเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก ให้กับนักท่องเที่ยว และคนไทยที่จะเดินทางเข้าไทย ได้เปิดจองที่พักผ่านเว็บไซต์ แต่กลับถูกแฮกเกอร์เจาะระบบโดยใช้สปายแวร์ ดักจับข้อมูล และควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำการปลอมเป็นพนักงานของโรงแรมและปลอมอีเมล ส่งให้ลูกค้าที่ต้องการจองห้องพักโอนเงินเข้าบัญชีของแฮกเกอร์ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง กลับพบว่า ทางโรงแรมไม่รู้เรื่องการจองห้องพักและเงินที่โอนก็ไม่ใช่บัญชีของโรงแรม ทำให้นักท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับความเสียหาย และส่งผลภาคลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวไทยด้วย จึงได้ประสานไปยัง กองบัญชาการตำรวจ สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อเร่งดำเนินการสืบสวนติดตามตัวคนร้านมาดำเนินคดี  

“กระทรวงดีอีเอสให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะทางโรงแรมเป็นธุรกิจท่องที่ยวที่สำคัญ และอยากฝากเตือนไปยังโรงแรมต่างๆ ควรปรับปรุงซอฟต์แวร์และระบบคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยมีระบบป้องกันไวรัส ใช้ระบบอีเมลที่ได้มาตราฐาน มีระบบยืนยันตัวตนสองครั้ง เพื่อป้องกันแฮกเกอร์ “

ขณะเดียวกันกระทรวงฯ จะเร่งรัดออกมาตรการและมีการให้ความรู้ผู้ประกอบการเพื่อรับมือเทรนด์ภัยคุกคามยุคใหม่ผ่านออนไลน์/ไซเบอร์ โดยหารือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้เข้ามาช่วยให้ความรู้และติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย หรือในโลกระบบคอมพิวเตอร์ที่มีภัยคุกคามจากแฮกเกอร์

ขณะที่ในฝั่งหน่วยงานหลักของกระทรวงฯ ที่ดูแลด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อช่วงต้นปีนี้ ก็จะพยายามขับเคลื่อนงานนี้ให้เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องกำลังคน เจ้าหน้าที่ งบประมาณ เพราะถ้ามีทรัพยากรเหล่านี้พร้อม ก็จะสามารถออกไปช่วยให้ความรู้ ช่วยผู้ประกอบการสามารถเสริมสร้างระบบคอมพิวเตอร์ให้เข้มแข็ง

“การที่ผู้ประกอบการเข้ามาร้องเรียนในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์กับภาคธุรกิจที่มีเว็บไซต์ มีอีเมลในการติดต่อกับลูกค้าให้ทราบว่า มีการเจาะเข้ามาในระบบได้ และมีการปลอมตัวเข้ามาเป็นพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของธุรกิจเรา แล้วหลอกให้คนโอนเงินเข้ามา สร้างความเสียหายกับธุรกิจอย่างมาก ลูกค้าก็เสียหาย ธุรกิจก็เสียหาย” นายชัยวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ ยังเตรียมศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางสนับสนุนการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการโรงแรม ในการติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ป้องกันสปายแวร์ โดยอาจหารือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษกิจดิจิทัล  (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัด หรือนำเสนอของบสนับสนุนจากกองทุนดีอี โดยมองว่าในเบื้องต้น รัฐก็ควรส่งเสริมช่วยผู้ประกอบการให้หาซอฟต์แวร์ดีๆ มาใช้ป้องกันการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องยอมรับว่าการจะวางระบบให้ดี ป้องกันแฮกเกอร์ได้ดี ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง และเป็นภาระให้ผู้ประกอบการ

ขณะที่ น.ส.พิชชารัตน์ กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากชมรมผู้ประกอบการโรงแรม ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเสียหายจำนวน 19 โรงแรม มูลค่าความเสียหายประมาณ 1.5 ล้านบาท จึงได้นำผู้ประกอบการเข้าร้องเรียน จะมีมาตรการอย่างไร เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยเสียหาย

ด้าน พล.ต.ต.รณชัย กล่าวว่า หลังได้รับการประสานงาน ก็ได้เร่งดำเนินการ เพราะอีกประมาณ 5 วัน ไทยก็จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งหลังการสืบสวนก็ได้ขออนุมัติจากศาล ออกหมายจับ 2 ราย และจับกุมได้แล้วทั้ง 2 ราย ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของบัญชี ซึ่งให้การเป็นประโยชน์ โดยเป็นแฮกเกอร์ต่างชาติที่เข้ามาแผงตัวตีสนิทกับคนไทยแล้วใช้บัญชีคนไทยในการหลอกลวงว่าเป็นบัญชีของโรงแรม โดยขณะนี้กำลังขยายผลผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งผู้กดเงินส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่แนวชายแดนและในต่างประเทศ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเร่งรัดนำตัวคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้ เพราะส่งผลเสียต่อโรงแรม และหากโรงแรมใดโดนกระทำ ในลักษณะนี้ก็ให้ติดต่อร้องเรียนมาได้ที่ บช.สอท. โทร.1441