ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ชีวิตผูกติดกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เมื่อเราไม่สามารถปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีได้ เรามีวิธีอย่างไรให้ความเสี่ยงลดน้อยลง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเหมือนเช่นกรณีข่าวถูกดูดเงินออกจากบัญชี โดยเจ้าของบัญชีไม่ได้ทำธุรกรรม

ในเรื่องนี้ นายปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัลเซ็นเตอร์ จำกัด  และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ แนะนำว่า คนไทยต้องเปลี่ยนทรรศนะและความคิดก่อน เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรปลอดภัย 100% ต้องมีการบริหารความเสี่ยงในการป้องกันให้ได้มากที่สุด และหากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จะมีความเสียหายต่ำสุด เพราะตอนนี้ปัญหาของชีวิตดิจิทัลก็คือคนไทยไม่ได้รับ การฉีดวัคซีนคุ้มกันทางไซเบอร์ เช่น หากเรารู้วิธีการใช้บัตรเครดิตและเดบิตที่ถูกต้องเหตุการณ์เงินหายในบัญชีก็จะไม่เกิด หรือหากเกิดขึ้นแล้วจะมีความความเสียหายน้อยที่สุด

“คนไทยต้องมีการจัดการกับระบบการชำระเงินของตนเองใหม่ โดยการใช้บัตรเครดิตตามร้านค้าพยายาม อยู่ที่จุดชำระตลอดเวลา หากไม่สามารถก็ต้องหาสติกเกอร์ปิดเลขสามหลักหลังบัตรเพื่อลดความเสี่ยง และเราสามารถลดวงเงินในการชำระออนไลน์ให้น้อยกว่าวงเงินรูดจริงได้ ปัจจุบันสามารถทำผ่านโมบายแอพได้ และหากเลือกได้ให้ใช้บัตรเครดิตเพราะใช้ก่อนจ่ายทีหลังและหมั่นเช็กสเตตเมนต์วันละ 1 ครั้ง หากเจอรายการที่เรา ไม่ได้ทำธุรกรรม ก็โทรฯหาธนาคารเพื่อปฏิเสธยอดทันที

ส่วนการใช้บัตรเดบิตหากกลัวถูกแฮกสามารถลดวงเงินให้เหลือศูนย์ หรือปิดระบบไม่ใช้ได้ และไม่จำเป็นไม่ควรผูกบัตรกับเว็บไซต์และแพลตฟอร์มที่ซื้อสินค้าต่างๆ หากจำเป็นให้เปิดบัญชีใหม่แล้วนำบัตรเดบิตไปผูกแทน และทิ้งเงินไว้ในบัญชีน้อยๆ เช่น 500 บาท หากเกิดปัญหาก็จะเสียหายแค่ 500 บาท กรณีต้องการซื้อของที่มีมูลค่ามากขึ้น ก็ใช้วิธีโอนเงินเพิ่มเข้าไป ฯลฯ เป็นการบริหารเงินสดในบัญชีให้คล่องตัวและมีความเสี่ยงต่ำ

ส่วนการใช้วอลเล็ท หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ ก็ไม่ควรผูกบัตรเครดิตและเดบิตไว้ เมื่อต้องการใช้จ่าย ให้โอนเงินเข้าวอลเล็ท แล้วจ่าย หรือทิ้งเงินไว้น้อยๆ ตามความเสี่ยงที่เรารับได้ ต้องฝึกให้เป็นกิจวัตร

สำหรับการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆในสมาร์ทโฟนให้ดาวน์โหลดเฉพาะแอพที่จำเป็นต้องใช้ในเครื่องเท่านั้น และดาวน์โหลดจากแอพสโตร์ และเพลย์สโตร์เท่านั้น แต่ในบางครั้งในสโตร์อาจจะมีแอพผี หรือแอพเถื่อนหลอกลวงได้ ก็ต้องดูชื่อผู้พัฒนาว่า มีความน่าเชื่อถือแค่ไหนก่อนดาวน์โหลด

และในกรณีที่มีการส่งลิงก์จากเอสเอ็มเอส อีเมล และโซเชียลแปลกๆ ไม่กดลิงก์ที่ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ พร้อมโทรฯตรวจสอบกลับไปยังหน่วยงานนั้นก่อน

สุดท้ายแล้วอย่าโลภและตั้งสติ อย่าคิดว่าเงินมันจะมาง่ายๆ ที่ง่ายคือเงินที่จะออกจากกระเป๋าเรา.