นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินภารกิจการขุดลองพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำจำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ ชายฝั่งทะเลบริเวณคลองบางใหญ่ ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต และ 2.บำรุงรักษาฟื้นฟูแม่น้ำลาว ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ปัจจุบันมีการดำเนินงานดังนี้

สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำคลองบางใหญ่ จ.ภูเก็ต ตามแผนปฏิบัติงานใช้เรือเจ้าท่า ข.5 และเรือเจ้าท่า 25 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน ขนาดร่องน้ำความยาว 1,600 เมตร ความกว้างก้นร่อง 30.00 เมตร ความลึก 2.00 เมตร (จากระดับน้ำลงต่ำสุด) ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.64 ปัจจุบันขุดลอกได้ระยะทาง 147 เมตร คิดเป็น 9.19 % จากระยะทางตามแผน 1,600 เมตร ปริมาณเนื้อดิน 25,090 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 14.76 % จากแผนการดำเนินงาน 170,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ใช้ระยะเวลาปฏิบัติงาน 120 วัน 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า หากขุดลอกแล้วเสร็จจะช่วยให้เรือประมงขนาดเล็ก เรือประมงพื้นบ้านและเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยว สามารถเข้า-ออกร่องน้ำได้ตลอดเวลาส่งเสริมอาชีพด้านการประมง ด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและกีฬาทางน้ำ ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน อีกทั้งช่วยระบายน้ำจากตัวเมืองภูเก็ตลงสู่ทะเลอันดามันได้สะดวกยิ่งขึ้น ป้องกันน้ำท่วมในตัวเมืองภูเก็ต ในการนี้เทศบาลนครภูเก็ตได้นำวัสดุที่ได้จากการขุดลอกนำไปปรับพื้นที่บริเวณหน้าหาดสวนสาธารณะสะพานหิน ต.วิชิต จ.ภูเก็ต ปรับภูมิทัศน์ให้เป็นลานสาธารณะสำหรับประชาชนทำกิจกรรมสันทนาการ 

ส่วนสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ขุดลอกแม่น้ำลาว จ.เชียงราย โดยรถขุด ชม.12 และ รถขุดตักดินเช่าเอกชน ได้เปิดหน่วยฯ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.64 จนถึงปัจจุบันขุดลอกได้ 34.28% โดยได้ดำเนินการขุดลอก ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ กม. 107+100 ถึง กม. 105+700 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ กม. 105+250 ถึง กม.104+900 ระยะทางรวม 1,750 เมตร ขุดลอกร่องน้ำให้ได้ความกว้างที่ก้นร่องน้ำตามแผนการขุดลอก 30-40 เมตร ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 468.50-473.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 60,000 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้เวลา 105 วัน เมื่อขุดลอกแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความกว้างและความลึกของร่องน้ำเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหากระแสน้ำกัดเซาะตลิ่ง  

นายวิทยา กล่าวอีกว่า รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เกิดประโยชน์กับโรงสูบน้ำประปา จำนวน 12 โรง พื้นที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมกว่า 1,677 ไร่ ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค กว่า 160 ครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้มีแหล่งกักเก็บน้ำ อุปโภค-บริโภค ใช้ในช่วงหน้าแล้งและตลอดทั้งปี ตลอดจนฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองธรรมชาติ เพื่อการคมนาคมขนส่งในลำน้ำเกิดความสะดวกและปลอดภัยด้วย