งานวิจัยล่าสุดจาก ‘Madre Brava’ ร่วมกับ ‘Asia Research and Engagement’ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำด้านโปรตีนยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตโปรตีนหลักที่ได้จากสัตว์มาสู่โปรตีนจากพืช ซึ่งเป็นเทรนด์อาหารโลกในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและหลากหลายให้กับประเทศไทย

“ขณะนี้ ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าสัตว์และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในด้านราคาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชอาจลดการพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้า ลดการตัดไม้ทำลายป่า และบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการศึกษาของเราจำลองสถานการณ์ออกมา 3 แบบ ได้แก่ การดำเนินการตามปกติ การใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ 30% และ 50% ภายในปี 2050 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นในด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการสร้างงาน” ‘วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์’ ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าว

ข้อมูลจากงานวิจัยข้างต้น ที่ระบุไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านสู่การบริโภคโปรตีนจากพืชในประเทศไทย โดยตั้งเป้าให้โปรตีนจากพืชมีสัดส่วน 50% ของการบริโภคโปรตีนทั้งหมดภายในปี 2050 นั้น นับเป็นกลยุทธ์ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลถึง 1.3 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการจ้างงานใหม่ในภาคอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืชสูงสุดถึง 1.15 ล้านตำแหน่ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารและลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

นอกจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนำรถยนต์ 8.45 ล้านคันออกจากท้องถนนในสหรัฐอเมริกา และยังช่วยประหยัดพื้นที่การผลิตทางการเกษตรได้ถึง 21,700 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้นจะเห็นปแล้วว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้

ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย ยังย้ำถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารจากพืชของเอเชียภายในปี 2050 โดยเสนอให้เพิ่มสัดส่วนการบริโภคโปรตีนจากพืชเป็น 50% เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการสำคัญที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายโปรตีนจากพืช การสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐใช้เมนูอาหารจากพืช และการพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพในการผลิตพืชวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งประเทศและภูมิภาค

“เราต้องสร้างความหลากหลายในอาหารการกินของเราตอนนี้ พอพูดถึงโปรตีน เราก็จะนึกถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา แต่จริงๆ แล้ว โปรตีนมาจากหลายแหล่งได้ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกันได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารก็แนะนำว่าให้หาแหล่งโปรตีนจากพืชมาเสริม และโปรตีนจากพืชควรจะเป็นแหล่งโปรตีนหลักในอาหารของเรา ความหลากหลายก็คือ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกัน ไม่ใช่โปรตีนจากสัตว์อย่างเดียว” วิชญะภัทร์ กล่าว

อนึ่ง Madre Brava คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความยั่งยืน และราคาเข้าถึงได้ 100% โดยทำการศึกษาวิจัยและประยุกต์ข้อมูลที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสื่อสารองค์ความรู้ และสร้างบทสนทนากับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตระหนักถึงโอกาสและเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ผลิตและบริโภคโปรตีนที่ยั่งยืน