เมื่อวันที่ 5 พ.ย. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ Leave การบินไทย alone! โดยระบุว่า จากที่มีความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้การบินไทยหลังจากเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ มา 3-4 ปี ตอนนี้กำลังจะออกจากแผนแล้ว โดยเสนอแผนแปลงหนี้เป็นทุน และการลดทุน เพื่อพลิกการขาดทุนสะสมให้กำไรกลับมาเป็นบวก แผนแปลงหนี้เป็นทุนถูกยื่น filing ตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือลดทุน

โดย 8 พ.ย. นี้ เจ้าหนี้การบินไทยทั้งหลายจะต้องโหวตรับรองแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไข เพื่อขอลดทุนเพื่อล้างหนี้สะสมซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่จู่ๆ ในแผนที่จะแก้ กลับเพิ่มเรื่องขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน 1 คนจากคลัง อีก 1 คนจากคมนาคม เพื่อกุมเสียงข้างมาก (ปัจจุบันตัวแทนจากคลังมี 1 คนคือ พรชัย ฐีระเวช ผอ.สศค.)

“หลายคนอาจจะคิดว่าก็ถูกแล้ว รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ควรมีตัวในการบริหารแผนฟื้นฟู ผิดค่ะ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูเป็นตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น รัฐบาลให้การบินไทยกู้ 12,800 ล้าน จากยอดหนี้ 129,000 ล้าน หรือ 10% เท่านั้น แต่จะขอเป็นเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู ดูจะเอาเปรียบเจ้าหนี้รายอื่นไปหน่อย ก่อนหน้านี้ที่เคยมีข่าวว่ารัฐบาลจะให้กู้เพิ่มตอนเข้าแผนฟื้นฟูใหม่ๆ สุดท้ายก็ไม่ได้ให้เลยซักบาท มีอย่างเดียวที่ช่วยได้จนเกิดมรรคเกิดผลคือปลดการบินไทยจากสถานะรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบริหารคล่องตัวขึ้นมาก” น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

น.ส.ศิริกัญญา ระบุต่อไปอีกว่า พอมาวันนี้ ที่การบินไทยกลับมายืนได้อีก ต้องกลืนเลือดปลดคนออกไป 50% ขายเครื่องบินและทรัพย์สิน ปฏิรูปองค์กรให้กลับมาทำกำไรได้ต่อเนื่อง รัฐบาลก็อยากมีส่วนร่วมบริหารขึ้นมาทันที ยังไม่ต้องพูดถึงว่า หลังแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว สัดส่วนหุ้นที่คลังถือก็จะอยู่ราว 33% เพียงเท่านี้ คลังก็ยังคงสิทธิออกเสียง เลือกบอร์ด ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดแล้ว แต่ยังไม่พอ มีข่าวว่าคลังยังจะเอาเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกเพื่อให้ได้อำนาจควบคุมการบินไทยมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็จะซื้อไม่เกิน 50% ไม่ให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เงินก็ไม่ค่อยจะมี จะหาเงินจากไหนไปซื้อหุ้นหลายหมื่นล้านบาทได้ คงหนีไม่พ้นเงินภาษีที่เก็บไม่ค่อยจะได้แล้วอยู่แล้วทุกวันนี้

น.ส.ศิริกัญญา ระบุต่อว่า ที่สำคัญ คนในการบินไทยเองน่าจะยังเข็ดขยาดหวาดผวากับการที่รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน A340 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ขาดทุนยับเยินจนถึงวันนี้ ในเมื่อเงินก็ไม่ค่อยจะมี อยู่แบบนี้ก็มีอำนาจควบคุมการบินไทยเพียงพอแล้ว ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก หรือส่งผู้บริหารแผนเข้ามาเพิ่มอีก ถ้าคนในรัฐบาลไม่ได้เล็งเป้าผลประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ในการบินไทย ฝากเจ้าหนี้การบินไทยช่วยกันโหวตไม่รับผู้บริหารแผนคนใหม่ด้วย.