จากกรณี ที่ประชุมของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 115/2567 และคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี การดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก นำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ หารือสาระสำคัญในคดี ก่อนมีมติร่วมกันในที่ประชุมแจ้งข้อหา พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือกฎหมายแชร์ลูกโซ่ และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรงฯ กับ 18 ผู้ต้องหาบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เพิ่มเติม นั้น

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากคณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษที่ 119/2567 หรือกรณีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด หลังดีเอสไอรับดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อจากสำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. กระทั่งเตรียมแจ้งข้อหา พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือกฎหมายแชร์ลูกโซ่ และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เป็นอีกสองฐานความผิด นอกจาก 2 ฐานความผิดเดิม อันประกอบด้วย ฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ

โดย คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 6 พ.ย. เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ คณะพนักงานสอบสวน นำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการประชุมร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดย รอง ผบช.ก. เพราะก่อนหน้านี้ทางตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีการแบ่งหน้าที่กันดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์งบดุล การวิเคราะห์ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์แผนประทุษกรรม

ดังนั้น สาระสำคัญในการประชุมวันที่ 6 พ.ย. นี้ จะประชุมเรื่องรายละเอียดของสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมด้วย ว่าทางตำรวจได้สอบสวนประเด็นใดไปแล้วบ้าง เนื่องจากวานนี้ (4 พ.ย.) ทางตำรวจ ปคบ. ได้มีการส่งแฟ้มเอกสารสำนวนคดีมายังดีเอสไอเพิ่มเติม รวมแล้วกว่าแสนแผ่น ซึ่งการพูดคุยกันในวันพรุ่งนี้ระหว่าง 2 หน่วยงาน ถือเป็นไปตามข้อบังคับตามที่กฎหมายกำหนด หรือที่เรียกว่า “ข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2547“ เนื่องจากในข้อ 5 วรรคท้าย ระบุว่า ”เมื่อมีการส่งมอบสำนวนแล้วให้หารือเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เกิดการประสานงานร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบสำนวนต่อจากพนักงานสอบสวนตำรวจ“ เพราะการส่งมอบให้เป็นคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนชุดเดิมและชุดใหม่จะต้องหารือร่วมกันว่าจะทำอะไรต่อไป เพื่อเชื่อมต่อเรื่องข้อมูลระหว่างกันด้วย

คณะพนักงานสอบสวน เผยต่อว่า สำหรับกรอบเวลาที่ดีเอสไอจะเข้าไปภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาแชร์ลูกโซ่-พ.ร.บ.ขายตรงฯ เพิ่มเติมกับ 18 บอสดิไอคอนฯ นั้น สำหรับวิธีการปฏิบัติ ดีเอสไอจะต้องทำร่างรายละเอียดไว้ก่อน แล้วทำหนังสือนัดหมายไปที่เรือนจำฯ ให้เรียบร้อยก่อนว่าผู้ต้องหาแต่ละรายพ้นระยะการกักโรคโควิด-19 หรือยัง หากครบระยะเวลากักโรคโควิด-19 แล้ว ทางเรือนจำก็จะต้องแจ้งว่าจะให้พนักงานสอบสวนเข้าไปพบที่ไหน อย่างไร เวลาใด วันที่ใด เพื่อให้ทางเรือนจำฯ ได้จัดสถานที่อำนวยการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ อย่างเร็วสุดคือวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. ช้าสุดคือสัปดาห์หน้า แต่ยืนยันว่าดีเอสไอจะต้องเร่งดำเนินการเพราะระยะเวลาการฝากขัง

เมื่อถามว่าปัจจุบันนี้ 18 บอสดิไอคอน จะถูกแจ้งข้อหารวมทั้งสิ้น 4 กฎหมาย คือ เเจ้งโดยตำรวจ ปคบ. 2 ข้อหา ประกอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และข้อหาฉ้อโกงประชาชน ขณะที่ดีเอสไอได้แจ้ง 2 ข้อหา คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 หากคำนวณอัตราการระวางโทษจำคุก แต่ละรายจะมีโทษอย่างไรบ้าง คณะพนักงานสอบสวน เผยว่า

สำหรับข้อหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งนั้น เป็นการแจ้งตามประมวลกฎหมายอาญา หรือฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 341 มาตรา 343 และ พ.ร.บ.คอมพ์ ดังนั้น ดีเอสไอจึงนำมาพิจารณา และพบว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 มาตรา 5 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19 มาตรา 20 ฉะนั้น หากดูจากอัตราโทษสูงสุดซึ่งจะเป็นไปตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ จะมีอัตราโทษสูงสุดอยู่ที่ 10 ปี แต่ก็แล้วแต่กรรม เพราะคดีแชร์ลูกโซ่ต้องดูจำนวนกรรม อีกทั้งการดำเนินคดีนั้น พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเป็นรายกรรม ต้องพิจารณารายละเอียดจากผู้ต้องหาแต่ละรายว่ากระทำกี่กรรม ยกตัวอย่าง บอสดาราได้ขึ้นพูดบนเวทีกี่ครั้ง ซึ่งจะต้องมีการถอดเทป เป็นต้น ส่วนบริษัทฯ มีการกระทำกี่กรรม ได้รับโอนเงินกี่ครั้ง ครั้งละกี่บาท เป็นต้น

ต่อข้อถามเรื่องการสรุปสำนวนสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ จะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไร อย่างไรนั้น คณะพนักงานสอบสวน เผยว่า ตามหลักการเดิมมันฝากขัง 48 วัน (4 ผัด) ซึ่งปัจจุบันนี้อาจอยู่ระหว่างการฝากขังผัดที่ 2 ดังนั้น หลังจากนี้ไปภายในไม่เกินสองเดือน หรือไม่เกิน 40 วัน จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ อาจตรงกับช่วงปลายเดือน ธ.ค. 67 หรือต้นเดือน ม.ค. 68 ก็เป็นได้ ซึ่งคำนวณตามระยะฝากขังที่ศาลจะอนุญาต

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ ย้ำถึงกรณีพยานของทนายวิฑูรย์ จำนวน 20 ราย ที่เข้ามายื่นเรื่องพบดีเอสไอ ว่า ส่วนพยานของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปฯ ทั้ง 20 ราย ที่เดินทางเข้ามาพบเจ้าหน้าที่เมื่อวานนี้ (4 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องไว้แล้ว รวมถึงได้สอบถามข้อมูลบุคคลว่าเป็นใคร เกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างไร รวมถึงประเด็นที่จะเข้ามาเป็นพยานในคดีเบื้องต้น แต่ยังไม่ได้สอบปากคำ ซึ่งจะนัดเข้ามาให้การภายหลัง.