กว่าวัยรุ่นอย่างเราจะได้เริ่มทำงานกันจริง ๆ ยังเหลือเวลาอีกตั้ง 3 – 4 ปี แต่การเริ่มคิดและวางแผนเป้าหมายชีวิตตั้งแต่วันนี้ว่า ในอีก 1 ปีข้างหน้าอยากทำอะไร? หรือเรียนจบแล้วเราจะทำอะไร? นอกจากช่วยให้ชีวิตมีความหวังและมีทิศทางที่จะมุ่งไปสู่อนาคตแล้ว เราอาจค้นพบเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่วัยรุ่นยุคดิจิทัลนี้ จะมีวิธีการหาเงิน และทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมา ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่า นำไปสู่การลงทุนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อต่อยอดให้เงินออมเพิ่ม มาช่วยเติมความฝันในระยะยาวได้
เพราะใคร ๆ ก็อยากมีชีวิตดี๊ดีในแบบที่ฝัน งั้นมาลงมือทำให้เป็นจริงด้วย “4 Steps วางแผนการเงินฉบับนักศึกษา” กันดีกว่า
1.ค้นหาตัวตน ค้นพบความฝัน
กุญแจดอกแรกที่ต้องค้นให้เจอ คือ ตัวตนของเรา เริ่มจากตั้งคำถามกับตัวเองตั้งแต่วันนี้ว่า “อยากจะเป็นอะไรในอนาคต” แล้วใช้เวลาที่มี ค่อย ๆ หาความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อดูว่าเราเหมาะจะทำอาชีพนั้น ๆ หรือไม่ หรือมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะเดินไปสู่อาชีพที่ฝันไว้ เช่น ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ เพราะได้เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่หากคิดให้ดี ๆ อีกที จะรู้ว่า… อาชีพนี้ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงเงิน แถมยังต้องทุ่มเทเวลาอย่างมากในการบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโต แล้วแบบนี้เรารับได้ไหม? ถ้าไม่ได้ ก็ต้องรีบมองหาแผนสำรองเอาไว้
“ ยิ่งเราค้นหาตัวตน และสิ่งที่ชอบได้ไวเท่าไหร่ รู้ว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับงานอะไร โอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก็ย่อมมีมากกว่าเห็น ๆ ”
2.รู้จักบริหารเงินให้เป็น
สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนซื้อ คือ ของชิ้นนั้น “จำเป็น” สำหรับเราหรือไม่?ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้ว จะกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากน้อยแค่ไหน? ซึ่งความจำเป็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับ “วัตถุประสงค์ในการซื้อ” “โอกาสในการใช้” และ “ความพร้อมทางการเงิน”
ถ้ามีสิ่งที่จำเป็นเยอะแยะไปหมด เราก็ต้องจัดลำดับความสำคัญว่า อันไหนจำเป็นมากที่สุด หรืออันไหนยังรอได้ บางครั้งการชะลอเวลาออกไปอีกนิด อาจช่วยให้เราคิดได้ว่า…จริง ๆ แล้วสิ่งนั้นอาจยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องควักเงินซื้อในตอนนี้ก็ได้
นอกจากนี้ อาจลองหาตัวช่วยคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งตัวช่วยที่ว่าก็คือ “การจดบัญชีรับ-จ่ายทุกวัน” โดยจดแยกตามหมวดหมู่ คราวนี้ก็จะได้รู้กันสักทีว่า…เดือนที่ผ่านมาเรามีรายได้หรือค่าใช้จ่ายมากกว่ากัน และเงินที่จ่ายไป หมดไปกับเรื่องใดมากที่สุด
จะได้หาทาง “ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง” เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าเครื่องสำอาง ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง ทั้งดูหนัง ฟังเพลง ทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น จากนั้นค่อยวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายด้วย “การทำงบประมาณ” ล่วงหน้าในแต่ละเดือน ว่าจะใช้อะไรไม่เกินเท่าไหร่
แต่หาก “เขียม” สุด ๆ แล้ว เงินก็ยังไม่พอใช้อยู่ดี ก็อาจถึงเวลาที่เราต้องหาทาง “เพิ่มรายได้” ซึ่งข้อดีสุด ๆ ของวัยรุ่นยุคดิจิทัล คือ สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ และ Social Media ต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้การสร้างรายได้เสริมในวัยเรียนทำได้ง่ายขึ้น เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง แถมยังอาจต่อยอดไปเป็นอาชีพในอนาคตได้ด้วย
สำหรับนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อนำมาเป็นค่าเทอมและค่ากินอยู่ระหว่างการศึกษา ทำให้ต้องเป็นหนี้ตั้งแต่วัยเรียน ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป หากเรากู้ยืมมาใช้ตามวัตถุประสงค์แล้วละก็เงินกู้ กยศ. นั้นก็จะถือว่าเป็นหนี้ที่ดี ที่จะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของเราและครอบครัวดีขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากหมดห่วง เรื่องภาระหนี้ กยศ. ทั้งวันนี้และวันหน้า การวางแผนออมเงินตั้งแต่วัยเรียน และมีวินัยในการชำระหนี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน คือ กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นภาระหนี้เหล่านั้น
3.วางแผนออมและลงทุน
ตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับมือใหม่หัด “ออม” อย่างเราอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ เช่น ค่าขนมหรือค่าจ้างจากการทำงานพิเศษ โดยควรหักเงินออมไว้ก่อนเลย จะได้ไม่ใช้จ่ายเพลินจนเงินหมด จำไว้ให้ขึ้นใจว่า “รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย” หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ออมก่อนใช้” นั่นเอง
พยายามตั้งเป้าไว้ว่า กระปุกเงินออมก้อนแรกนี้ จะเก็บไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน เพราะอย่างน้อย ๆ การมีเงินออมสำรองไว้ ก็ยังพอช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ และเมื่อออมเงินได้ครบตามเป้าหมายแรกแล้ว ค่อยเริ่มออมเงินเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อสร้าง “อิสรภาพการเงิน” ในอนาคต
อิสรภาพทางการเงิน ที่ว่านี้ก็หมายถึง การที่เราสามารถใช้จ่ายเงินที่หามาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องแบมือขอจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นความรู้สึกอิสระที่มาพร้อมกับความภาคภูมิใจ ยิ่งถ้าเราออมอย่างมีวินัยไปเรื่อย ๆ และนำเงินออมไปต่อยอดผ่านการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ
อย่าว่าแต่… รถยนต์ บ้านในฝัน หรือท่องเที่ยวต่างประเทศเลย เรายังจะมีเงินไว้ใช้จ่ายตอนอายุมาก ๆ ได้อย่างสบาย ๆ
แน่นอนว่า…วัยรุ่นอย่างเรามักชอบการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อแลกกับโอกาสได้ผลตอบแทนสูง ๆ แต่การจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้นั้น ต้องมีการ “กระจายการลงทุน” ไปในทางเลือกต่าง ๆ เพื่อถัวเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยให้เราลงทุนได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น เช่น มีเงินเก็บ 10,000 บาท อาจนำไปลงทุนค้าขาย 5,000 บาท เพื่อให้มีกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ อีก 2,000 บาท เก็บในบัญชีออมทรัพย์ไว้เผื่อฉุกเฉิน ส่วนอีก 3,000 บาท อาจนำไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมเพื่อให้เงินงอกเงยมากขึ้น
4.ลงมือทำ คว้าฝันให้เป็นจริง
เมื่อรู้แล้วว่า… เราต้องการอะไร มีเป้าหมายอย่างไร สามารถออมเงินได้ด้วยวิธีไหน และจะใช้จ่ายอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุดท่ามกลางสภาพแวดล้อมชวนซื้อต่าง ๆ นานา เราก็สามารถนำเงินออมที่มี ไปขยายดอกผลให้เติบโตเป็นเงินออมก้อนใหญ่ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ โดยอาจ เริ่มต้นจากการศึกษาทางเลือกการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นก่อนก็ได้
แต่ถ้ารู้แล้วไม่ทำ ยังปล่อยให้กระปุกออมสินว่างเปล่าและสงบนิ่งอยู่บนชั้น หนทางที่เราจะเดินไปสู่ชีวิตดี ๆ มีความมั่งคั่งอย่างมั่นคงในเร็ววัน ก็คงจะเลือนลางเต็มที ฉะนั้น “แค่รู้คงไม่พอ แต่ต้องลงมือทำ” และ “เริ่มทำให้เร็วที่สุด” เริ่มเสียแต่วันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า