นายทรงวุฒิ ศิริอุดมเลิศ ผู้แทนจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างของ BEM ในการก่อสร้างงานโยธา และจัดหาระบบรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.67 ทั้งการดำเนินงานระบบอาณัติสัญญาณส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการขุดสำรวจสาธารณูปโภค ภาพรวมโครงการฯ มีความคืบหน้าแล้ว 1.90% โดยตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.นี้ จะเริ่มปิดการจราจร 1 ช่องใน 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ

นายทรงวุฒิ กล่าวต่อว่า จากนั้นปลายเดือน พ.ย.67 จะปิดการจราจรอีก 6 สถานีที่เหลือ ได้แก่ สถานีสนามหลวง สถานีหลานหลวง สถานีราชเทวี สถานีราชปรารภ สถานีดินแดง และสถานีประชาสงเคราะห์ เพื่อดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภค สร้างผนังกำแพงใต้ดิน และก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งในขั้นตอนนี้เครื่องจักรจะเริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 68 ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 2 ปี และในระหว่างนั้นเมื่องานเหล่านี้เดินหน้าได้บางส่วน มีพื้นที่เพียงพอที่จะนำหัวเจาะลงไปได้ ก็จะเริ่มงานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งควบคู่ไปด้วย คาดว่าจะเริ่มขุดเจาะทางวิ่งได้ประมาณปี 69 และใช้เวลาดำเนินการจนแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ตามโครงการฯ ส่วนตะวันตก มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร(กม.) 11 สถานี เป็นทางใต้ดินตลอดสาย ใช้หัวเจาะอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 7 หัว โดยตามสัญญางานต้องแล้วเสร็จทั้งหมด และพร้อมเปิดให้บริการส่วนตะวันตกในปี 73

นายทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า บริษัท ช.การช่างฯ มีความพร้อมมากในการก่อสร้าง โดยเฉพาะงานอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งสะสมประสบการณ์มานานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่การขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินแห่งแรกของประเทศไทย โดยการขุดเจาะอุโมงค์ครั้งนี้ จะดำเนินการลักษณะเดียวกับสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงใต้ เป็น 2 อุโมงค์คู่ขนานกัน ใช้เทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์ Tunnel Boring Machine (TBM) ชนิดสมดุลแรงดันดิน สามารถควบคุมแรงดันภายในหัวเจาะให้เท่ากับแรงดันดินด้านหน้าหัวเจาะ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนตัวของดิน และไม่ให้เกิดการทรุดตัว หรือการปูดของดินที่ระดับผิวดิน ซึ่งหัวเจาะอุโมงค์นี้ มีประสิทธิภาพในการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10-15 เมตร

นายทรงวุฒิ กล่าวด้วยว่า สำหรับเส้นทางส่วนตะวันตก มีจุดที่ต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างสถานีศิริราช และสถานีสนามหลวงด้วย โดยการขุดเจาะมีความลึกจากผิวดินประมาณ 30 เมตร ใกล้เคียงกับสายสีน้ำเงิน งานก่อสร้างไม่ยาก และไม่น่ามีปัญหาใด เพราะบริษัทฯ มีประสบการณ์ในการทำงานดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลอยู่ที่การบริหารจัดการจราจรว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย เพราะเส้นทางนี้ผ่านย่านใจกลางเมือง และเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่แล้ว โดยเฉพาะถนนราชปรารภ และถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งจะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดจราจร และอำนวยความสะดวกประชาชนให้ดีที่สุด เพื่อลดผลกระทบ.