เมื่อวันที่ 4 พ.ย. เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แถลงถึงข้อมูลภูมิหลัง รวมทั้งสถานะล่าสุด เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือโอซีเอ (Overlapping Claims Area: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา

โดยนายนิกรเดช กล่าวว่า การแถลงครั้งนี้ เป็นไปตามแนวนโยบายของ รมว.การต่างประเทศ ที่ต้องการส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศที่สำคัญบนพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่และการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ และที่มาของแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สำคัญๆ ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้ เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของสาธารณชน ด้วยความร่วมมือของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนการสื่อสารที่สำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ 

ด้านนางสุพรรณวษา กล่าวว่า สำหรับเขตทางทะเลประเภทต่างๆ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 รวมทั้งที่มาของโอซีเอระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ที่เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งไทยและกัมพูชา โดยทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 หรือที่เรียกกันว่าเอ็มโอยูปี 2544 ซึ่งเป็นความตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างกัน โดยไม่ได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิทางทะเลของอีกฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันต่อไป

อธิบดีกรมสนธิสัญญา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เอ็มโอยูปี 2544 ระบุให้ดำเนินการทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมไปพร้อมกัน โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาหารือกันบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ร่วมกันกลไกหลักของการเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่โอซีเอ ภายใต้เอ็มโอยูปี 2544 คือคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือเจทีซี (Joint Technical Committee: JTC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน โดยที่ผ่านมา มีการประชุมเจซีที 2 ครั้ง เมื่อปี 2544 และ 2545 นอกจากนี้ยังมีกลไกย่อยอื่นๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเล และคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม

นางสุพรรณวษา กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นสอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบายและระดับเทคนิค คือ 1.ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ จะต้องยอมรับข้อตกลงได้ 2.จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และ 3.ข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแต่งตั้งองค์ประกอบของเจทีซี (ฝ่ายไทย) โดยในเจซีที จะมีกรรมการประมาณ 20 คน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคงเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งด้านความมั่นคง กระทรวงพลังงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมสนธิสัญญา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในส่วนของไทย และเมื่อทั้ง 2 ฝ่าย ได้แต่งตั้งองค์ประกอบของเจทีซีแล้ว จึงจะมีการเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ หลังจากนั้นจะทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา รวมถึงแต่งตั้งกลไกย่อยต่างๆ ต่อไป

“กระทรวงการต่างประเทศยืนยันคำมั่นที่จะเจรจาเรื่องพื้นที่โอซีเอบนพื้นฐานของกฎหมายไทย พันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบ ดังที่ได้ปฏิบัติเช่นนี้กับประเทศอื่นๆ มาตลอด ด้วยความเป็นมืออาชีพและยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง” นางสุพรรณวษา กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มีการสรุปคำถามต่างๆ จากสื่อมวลชน อาทิ คำถามที่ว่าเอ็มโอยูปี 2544 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดหรือไม่ ซึ่งนางสุพรรณวษา กล่าวว่า ไม่ได้ทำให้เราเสียเกาะกูด เพราะเพราะสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 กำหนดชัดว่าเกาะกูดว่าเป็นของไทย ซึ่งถือเอกสารสำคัญที่ยืนยันสิทธิของไทยเหนือเกาะกูดชัดเจนอยู่แล้ว ประเด็นนี้ไม่เป็นที่สงสัย และเราใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถยืนยันได้ว่าไทยไม่ได้เสียเกาะกูด

คำถามที่ว่าเอ็มโอยูปี 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการเรื่องประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย พ.ศ. 2516 หรือไม่ นางสุพรรณวษา กล่าวว่า เอ็มโอยูปี 2544 สอดคล้องกับพระบรมราชโองการเรื่องประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปฯ เพราะระบุว่าแผนที่และจุดต่างๆ เป็นการกำหนดแนวทั่วไป แต่สิทธิอธิปไตยหรือการแสวงหาผลประโยชน์รวมถึงทรัพยากรใต้ทะเล ต้องมีการเจรจากับทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเข้าใจหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าทุกประเทศมีสิทธิประกาศฝ่ายเดียว แต่จะมีผลผูกพันกับประเทศที่ประกาศเท่านั้น แต่เอ็มโอยูปี 2544 เป็นความตกลงเพื่อให้ไปพูดคุยกัน จึงสอดคล้องกับการกำหนดไว้ตามแนวกฎหมายของไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้ง เอ็มโอยูเป็นหลักสากลว่าการเจรจาเขตแดนทางทะเล ประเทศต่างๆ สามารถอ้างสิทธิได้ แต่เมื่อเกิดข้อพิพาท ก็ต้องเจรจา โดยเอ็มโอยูปี 2544 เป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจา ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร การอ้างสิทธิของไทยยังคงอยู่ ไม่ได้เป็นการตอบรับการเส้นที่กัมพูชาอ้างสิทธิแต่อย่างใด

คำถามที่ว่าบางฝ่ายอ้างว่าในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2552 ให้ยกเลิกเอ็มโอยูปี 2544 แต่เหตุใดจึงยังไม่ยกเลิก และนำมาใช้เจรจากับกัมพูชา นางสุพรรณวษา กล่าวว่า เมื่อปี 2552 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา มีความท้าทายหลายประเด็น ไม่ว่าจะเรื่องที่กัมพูชาทำเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เป็นครั้งที่ 2 และมีสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดน รวมถึงการเจรจาต่างๆ ไม่มีความคืบหน้า เพราะไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น จึงเสนอต่อ ครม. เมื่อปี 2552 ให้ยกเลิกเอ็มโอยูปี 2544 เพราะเห็นว่าไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ตามเอ็มโอยูนี้ ซึ่งที่ประชุม ครม. ขณะนั้น มีอนุมัติในหลักการ แต่ระบุว่าให้นำไปพิจารณาให้รอบคอบในแง่ข้อกฎหมาย

นางสุพรรณวษา กล่าวอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศจึงหารือที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นชาวต่างชาติในเวลานั้น โดยมีการประชุมคณะกรรมการพิเศษเกี่ยวกับสนธิสัญญาต่างๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย รวมถึงหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคง สมช. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงพลังงาน จนกระทั่ง 5 ปีผ่านไป มาถึงปี 2557 ทางกระทรวงฯ จึงนำเสนอความเห็นต่อ ครม. ว่าเอ็มโอยูปี 2544 ยังมีข้อดี และสามารถนำไปสู่การเจรจาที่จะเป็นผลสำเร็จได้ จึงได้นำเสนอต่อ ครม. เมื่อปี 2557 เพื่อให้ทบทวนมติ ครม. ปี 2552 และยืนยันว่าเอ็มโอยูปี 2544 ควรมีอยู่ต่อไป

อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ กล่าวว่า หลังจากปี 2557 แล้ว ทางกระทรวงฯ ได้มีการนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ทุกครั้งว่าเอ็มโอยูปี 2544 น่าจะเหมาะสมที่สุดในการใช้เจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป ขณะที่รัฐบาลใหม่ได้สนับสนุนให้นำเอ็มโอยูปี 2544 มาเป็นกลไกในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่เราทำประสบความสำเร็จมาแล้วในการเจรจากับมาเลเซีย ซึ่งทุกรัฐบาลยอมรับว่าเอ็มโอยูลักษณะนี้ เป็นพื้นฐานที่เหมาะสมในการเจรจาให้เกิดความคืบหน้า

เมื่อถามถึงกรณีที่กัมพูชาสร้างเขื่อนกันคลื่นกระทบอาณาเขตทางทะเลของไทย นางสุพรรณวษา กล่าวว่า เรื่องเกิดจากการที่บริษัทเอกชนของกัมพูชา สร้างท่าเทียบเรือ เมื่อปี 2540 ยื่นเข้าไปในทะเล 100 เมตร ซึ่งเมื่อกระทรวงการต่างประเทศทราบเรื่องนี้ และเห็นว่ารุกล้ำเส้นอ้างสิทธิของไทย จึงได้ทำการประท้วงทันทีตั้งแต่ปี 2540 และยังมีการประท้วงต่อเนื่อง รวม 3 ครั้ง ทำให้บริษัทเอกชนนั้นหยุดการก่อสร้าง แต่เรายังต้องหยิบยกเรื่องนี้มาหารือในกรอบต่างๆ ที่เรามีกับกัมพูชาต่อไป