จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานสถานประกอบกิจการหลายแห่งมีการปิดตัว เลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ยกตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นกับลูกจ้างบริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด จ.นครราชสีมา เนื่องจากสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นล้มละลาย ทำให้ บริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องรับวิทยุ เครื่องบันทึกและทำสำเนาเสียงและภาพ ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 862 คน แบ่งเป็นเพศชาย 310 คน และหญิง 552 คน
ล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ผ่านวารสาร “สถานการณ์ตลาดแรงงาน” ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สรุปข้อมูลความต้องการแรงงาน ในเดือน ส.ค. 2567 ผู้มีงานทำ 39.93 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 4.44 แสนคน ผู้ขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานผ่านกรมการจัดหางาน จำนวน 77,023 คน ทั้งนี้สาเหตุของการว่างงานส่วนใหญ่คือลาออกจากงาน จำนวน 62,830 คน คิดเป็น 81.57% ถูกเลิกจ้าง 11,625 คน คิดเป็น 15.09% และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 2,568 คน คิดเป็น 3.34%
ส่วนจำนวนผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานจำนวน 66,868 อัตรา เป็นระดับปวช.-ปวส. และอนุปริญญา จำนวน 25,195 อัตรา คิดเป็น 37.68% รองลงมาคือมัธยมศึกษาจำนวน 23,636 อัตรา คิดเป็น 35.35% ระดับปริญญาและสูงกว่านั้นจำนวน 9,313 อัตรา คิดเป็น 13.93% และระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า จำนวน 8,724 อัตรา คิดเป็น 13.04% เมื่อจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ภาคบริการและการค้าต้องการแรงงานมากที่สุด 37,559 อัตรา ภาคการผลิต 28,569 อัตรา และภาคเกษตรกรรม 740 อัตรา
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย กรณีผู้ประกันตนว่างงานสามารถยื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานได้ แบ่งออกเป็นประเภท ดังนี้ 1. กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
2. กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
ในกรณียื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน (รายละเอียดขั้นตอนการขอใช้สิทธิคลิก)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูล รายงานสถานการณ์ผู้ประกันตน ที่มาขอใช้สิทธิรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน ปี 2567 จำแนกเป็นรายเดือนดังนี้ เดือน ส.ค. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 7,127 คน สมัครใจลาออก 59,055 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 2,848 คน เดือน ก.ค. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 6,808 คน สมัครใจลาออก 64,936 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 2,818 คน เดือนมิ.ย. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 6,322 คน สมัครใจลาออก 62,299 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 2,863 คน เดือน พ.ค. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 6,985 คน สมัครใจลาออก 67,789 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 3,569 คน เดือน เม.ย. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 7,532 คน สมัครใจลาออก 54,863 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 3,828 คน เดือน มี.ค. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 7,827 คน สมัครใจลาออก 63,455 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 3,190 คน เดือน ก.พ. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 6,766 คน สมัครใจลาออก 54,247 คน สิ้นสุดสัญญาจ้าง 2,956 คน และเดือน ม.ค. มีผู้ขอรับเงินชดเชยฯ กรณีถูกเลิกจ้าง 8,982 คน สมัครใจลาออก 54,372 คน และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 3,381 คน