จากกรณีเมื่อวันที่ 29 ต.ค.67 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากกว่าร้อยวันเหลือเพียง 5 วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อยู่อาศัยในไทยมานานรอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายมานะ งามเนตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและสัญชาติ ถึงกรณีที่ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการเสนอหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย โดยสามารถสรุปเนื้อหาดังกล่าวได้ว่า สามารถแบ่งบุคคลเป้าหมาย ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ1. กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (อาศัยมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522) และ 2. กลุ่มการขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 (อาศัยมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535)
ขณะที่กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มการขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 (อาศัยมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535) หลักเกณฑ์ใหม่ได้เสนอให้ปรับเป็น “บุตรของคนอพยพเข้ามาในราชอาณาจักร” แล้วได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีต ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จนถึง พ.ศ.2542 มีเลขประจำตัวประชาชน 6-????-(50-72)???-??-? และที่สำรวจเพิ่มเติม(สำหรับบุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 18 มกราคม 2548) ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ระหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ.2554 มีเลขประจำตัวประชาชน 0-????-89???-??-? 1.2) บุคคลไร้รากเหง้า (ที่สำรวจตามยุทธศาสตร์ฯ มีเลขประจำตัวประชาชน 0-????-89???-??-?) และ 1.3) ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ (ที่สำรวจตามยุทธศาสตร์ฯ มีเลขประจำตัวประชาชน 0-????-89???-??-?) ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และ มารดา หรือบิดาต้องเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี นับถึงวันที่บุตรยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย
เรื่องการยื่นคำร้องเหมือนเดิม โดยในต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอตามภูมิลำเนาทางทะเบียนราษฎร และ”นายอำเภอ จะเป็นผู้พิจารณาแบบเบ็ดเสร็จ” ไม่ต้องส่งเรื่องไปให้หน่วยงานใดพิจารณา ดังเช่นที่ผ่านมา ส่วนใครที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องต่อ “ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย” สำนักงานตั้งอยู่ที่ “อาคารกรมการปกครอง คลอง 9 อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี” โดยผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน จะเป็นผู้พิจารณาแบบเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกัน และเหมือนกลุ่มที่หนึ่ง คือ อย่าไปที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพราะไม่ได้รับมอบภารกิจนี้จากคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ นายมานะ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากหลักการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ กลุ่มบุคคลเป้าหมาย ยกเลิกคุณสมบัติเฉพาะกลุ่มบางกรณี ลดขั้นตอนการพิจารณาให้น้อยลง ด้วยหลักการ “ให้ก่อน ถอนทีหลัง” และเปลี่ยนผู้มีอำนาจพิจารณาออกคำสั่งทางปกครอง เป็นนายอำเภอทุกอำเภอในต่างจังหวัด หรือเพียงระดับผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักของกรมการปกครอง เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว แต่ตนมองว่า หลังจากมีการแถลงข่าวผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี ด้วยถ้อยคำที่สังคมตกใจ “ให้สัญชาติไทยแก่บุตรคนต่างด้าว 483,000 คน” จึงเกิดประเด็นสับสน และมีกลุ่มที่อาจจะไม่ได้เกาะติดเรื่องเดิม ไม่ทราบพัฒนาการของเรื่องที่เคยมีมติคณะรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 มีมติคณะรัฐมนตรีจากหลายรัฐบาลที่อาศัยมาตรา 17 สำหรับบุคคลต่างด้าวที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทย และมาตรา 7 ทวิ วรรคสองสำหรับบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทย มีพยานหลักฐานการเกิดจากนายทะเบียน เฉพาะกลุ่มที่ได้รับการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติไว้ตามนโยบายรัฐบาล หลายรัฐบาล มีการปรับปรุง และพัฒนากระบวนการด้วยแนวคิดที่ระดมผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ก่อนจะมาเป็นยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 กลุ่มที่ไม่มีข้อมูล หรือศึกษาไม่ครอบคลุม หรือมีประเด็นอื่นซ่อนเร้นทางการเมือง จึงมีแรงต้าน สร้างความไม่เข้าใจด้วยการยกเอาความรักชาติมาเป็นที่ตั้งต่าง ๆ นานา เรื่องนี้ ผู้บริหารประเทศต้องทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วนไม่ให้เกิดเหตุที่สร้างความแตกแยกในสังคม
ส่วนกระบวนการปฏิบัติงานที่จะตามมา ซึ่งทราบว่า พยายามที่จะทำให้เร็วที่สุด รัดกุมมากที่สุด โดย กรมการปกครองซึ่งมีหน้าที่โดยตรงจะต้องมีการจัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เห็นชอบ และอนุมัติในหลักการ พร้อมรายละเอียดในการปฏิบัติออกมาเพื่อรองรับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และมีความเห็น เพื่อคณะยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ที่จะให้บริการ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดความเข้าใจต่อสาธารณชน ต่อประเด็นที่ละเอียดอ่อน ได้แก่
- การรับรองตนเองของผู้ที่มีคุณสมบัติจะยื่นคำร้องทั้ง 2 กลุ่ม โดยผู้ที่จะยื่นคำร้องขอต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งต้องรอประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับใหม่ หลักเกณฑ์ที่จะต้องมีความรอบคอบ รัดกุม และอ้างอิงพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ชัดเจนถึงการที่ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ควรจะมีผู้มีประสบการณ์ด้านใดบ้างมาร่วมคิด วิเคราะห์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้กันอย่างสากล จากทุกภาคส่วนของประขาสังคม แล้วนำร่างมาเสนอ ให้ผู้สนใจ หรือสาธารณชนที่อาจจะเป็นผู้มีส่วนร่วมไปแสดงความเห็นต่อร่าง “การรับรองตนเอง” ก็จะเป็นการดี ส่วนผู้ที่มีความเห็นต่างในวันนี้ จะมีความเห็นเช่นไร เมื่อได้เห็นร่างที่ภาคประชาสังคมร่วมกันร่างมา พร้อมคำอธิบายให้เข้าใจแนวคิด จนกระทั่งได้ถ้อยคำที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ตามหลัก “อำนาจผูกพัน” เพื่อไม่ให้มีการใช้ “อำนาจดุลพินิจ” มาพิจารณา และการพิจารณาก็ต้องมีหลักธรรมาภิบาลด้วยจะยิ่งดีขึ้นไปใหญ่
2.การขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐนตรี วันที่ 7 ธันวาคม 2559 “ต้องมีสูติบัตร (ท.ร.2. หรือ ท.ร.031 หรือ ท.ร.03) หรือ หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) หรือ หนังสือรับรองสถานที่เกิด” สำหรับใครที่มีสูติบัตร และยังมีรายการอยู่ในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร ไม่น่าห่วง ที่น่าห่วง คือ กลุ่มที่ยังไม่มีสูติบัตร จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานที่แสดงว่า “เกิดในราชอาณาจักรไทย” เพื่อขอให้นายทะเบียนพิจารณาออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความพยายามในการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยในอดีต มีกฎกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร กำหนดยกเว้นให้ไม่ต้องมีการแจ้งการเกิดของบุตรบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ถ้าหากต้องการจะแจ้งเกิด นายทะเบียนก็จะรับแจ้ง แล้วออกสูติบัตรให้ ในเมื่อมีกฎหมายยกเว้นไว้แล้ว รวมถึงอาจจะเกิดจากการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งการเกิดกับเจ้าของเรื่องที่อาจจะไม่สันทัดกรณีในภาษาราชการ จึงไม่เก็บรักษาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเกิดของบุตรไว้ ทำให้ไม่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเกิดที่จะใช้แสดงต่อนายทะเบียน เพื่อขอ ท.ร.20/1 ตามที่มีการกำหนดว่า ต้องใช้สูติบัตร หรือ ท.ร.20/1 เป็นหลักฐานสำคัญ และพบว่า ยังมีการปฏิเสธการรับคำร้องการขอ ท.ร.20/1 รวมถึงการบ่ายเบี่ยงทำตามหน้าที่ในประกาศของสำนักทะเบียนกลาง ด้วยการให้ผู้ยื่นคำร้อง ทีมีชื่อในทะเบียนราษฎร ณ สำนักทะเบียนที่ไม่ใช่ท้องที่อันเป็นสถานที่เกิด ไปยื่นต่อนายทะเบียน ณ ท้องที่ของสำนักทะเบียนอันเป็นสถานที่เกิด และมีข่าวการทุจริต เรื่องการเตรียมพยานหลักฐานในการขอ ท.ร.20/1 ล่าสุดได้ข่าวว่า อัตราค่าให้บริการขึ้นราคาอีกหลายเท่าตัว หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กรณีนี้จะป้องกัน และแก้ไขเหตุแห่งการทุจริตกันอย่างไรได้บ้าง
“ประเด็นที่ไม่มีการกล่าวถึง คือ บุคคลที่มีสูติบัตร(ท.ร.3) มีชื่อ รายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน ยังไม่ได้แจ้งการย้ายที่อยู่ไปเข้าทะเบียนบ้าน(ท.ร.13) เล่มปกสีเหลือง สำนักทะเบียนกลาง เคยมีคำสั่งโดยหนังสือสั่งการ และกำหนดโปรแกรมตรวจรายการบุคคลกลุ่มดังกล่าว ที่มีอยู่ในสำนักทะเบียนนานเกิน 10 ปี จะถูกจำหน่ายออกจากระบบ ทำให้บุคคลที่ยังมีสูติบัตร ไม่เคยไปติดต่อ หรือยังไม่เคยขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ต้องเพียรพยายามรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อแสดงตนว่า ตนเองเป็นบุคคลคนเดียวกับบุคคลตามรายการในสูติบัตร อาจจะยังมีบุคคลกลุ่มนี้มีตัวตนซ่อนอยู่ในสังคม ไม่ทราบจำนวนเท่าใด ทั้ง ๆ ที่อาจจะเป็นบุคคลที่มีสิทธิ มีคุณสมบัติอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการมาแล้วหลายมติ แต่ติดขัดตรงที่ “สูติบัตร และรายการบุคคลถูกจำหน่ายออกจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร” เสมือนเป็นมนุษย์ที่ไม่มีตัวตนทางทะเบียน…แม้จะมีชีวิตจริง ก็ตาม” นายมานะ กล่าวทิ้งท้าย