เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า ต้องไปดูที่คณะกรรมการเรื่องรัฐธรรมนูญ ในการที่เขาชี้แจงรายละเอียดว่าทำไมจึงทำไม่ทัน เพราะประเด็นคือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตกจากวุฒิสภา แล้วต้องกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรใหม่ จนต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ทั้งนี้ เราเห็นอยู่แล้วว่าที่ผ่านมา เมื่อทุกพรรคร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ผลักดันออกมาได้ทันการเลือกตั้ง ส่วนครั้งนี้เราต้องดูก่อนว่าจะแก้รายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ สำหรับตนคิดว่าต้องแก้สิ่งที่เป็นจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก่อน

“ถ้าทุกพรรคการเมือง โดยยกคำว่าฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลออกไป แล้วมานั่งหารือกันให้ตรงกันว่าแนวทางจะแก้จุดไหนก่อน ถ้ามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นตรงไหน อันไหนคือสิ่งที่ต้องแก้ ผมว่าต้องมาเปิดอกคุยกันแล้วขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ก็แก้ได้” นายชัยชนะ กล่าว

นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวตนคิดว่าไม่ต้องถามประชามติจากประชาชนก่อน เพราะ สส.ทุกคนเป็นตัวแทนของประชาชน และรับฟังปัญหาจากประชาชนมาแล้ว นอกจากนี้ ตนคิดว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรลดจำนวน สส.ระบบบัญชีรายชื่อ แล้วเพิ่มจำนวน สส.ระบบเขตเลือกตั้ง เช่นวันนี้มี สส. ทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็น สส.เขต 400 คน และ สส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งเราเคยใช้มาแล้ว 400 คนต่อ 80 คน แบ่งเป็น 8 กลุ่มของประเทศ และ 375 ต่อ 125 คน ตนจึงคิดว่าลองลดจำนวน สส.บัญชีรายชื่อได้หรือไม่ จาก 100 คน เหลือ 50 คน และให้ สส.เขตเพิ่มเป็น 450 คน 450 เขต เมื่อรวมแล้ว ก็ยังคงจำนวน สส.ทั้งหมด 500 คนเหมือนเดิม เพราะ สส.ที่ทำงานเข้าถึงประชาชน และสอบถามปัญหาของประชาชน คือ สส.เขตเลือกตั้ง ขณะที่นักวิชาการหรือคนที่ทำนโยบาย ก็ให้อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่จำเป็นต้องไปรอให้ พ.ร.บ.ประชามติออกมาก่อนใช่หรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งก่อน เราไม่ได้ทำประชามติเลย แต่เราก็แก้ไขทัน แม้มีการถกเถียงกัน แต่สุดท้ายก็เห็นตรงกันและผ่านไปได้ ดังนั้นกฎหมายประชามติจะออกมาทันหรือไม่นั้น ทุกพรรคการเมืองควรหันหน้าเข้าหากันและพูดคุยกันดีกว่า

ต่อข้อถามว่าหลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นการยื้อของแกนนำรัฐบาลหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่าเป็นการยื้อ แต่คิดว่ารัฐบาลตั้งใจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติไม่ผ่านวุฒิสภา ก็ต้องกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมาดูระยะเวลาการทำกฎหมายประชามติที่เพิ่มขึ้น แต่คิดว่าถ้าทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าต้องแก้อะไร คิดว่าก็เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ส่วนจะทำหรือไม่ทำประชามตินั้น เราเข้าใจอยู่แล้วว่าทุกคนล้วนแต่ทำปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแก้ไข เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระบบประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าต้องการประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องไปแก้ไขที่มาของ สว. ในอนาคต ซึ่งตนคิดว่า สว. ควรมาจากการเลือกโดยตรงจากประชาชน

เมื่อถามว่าหากแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นักการเมืองทุกคนเป็นนักกีฬา กติกาออกมาอย่างไร ก็ต้องทำตามกติกาและเคารพกฎระเบียบของกติกา อย่างการเลือก สว. ครั้งที่ผ่านมา หลายคนก็ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ก็ต้องยอมรับ

ต่อข้อถามว่าตอนนี้ประชาชนมองว่านักการเมืองเร่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แต่ไม่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นายชัยชนะ กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาล หรือ สส. ต้องมี 2 ขา ขาหนึ่งทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ อีกขาคือการทำงานบริหารราชการแผ่นดิน และดูแลประชาชน ทั้ง 2 ทางนี้ ดำเนินการควบคู่กันอยู่แล้ว รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และเร่งแก้ไขกฎหมายที่มีข้อติดขัด