เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ประเทศอินเดีย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงเหตุยิงจรวดเข้าไปในเขตประเทศอิสราเอล ทำให้คนไทยเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจตั้งแต่เริ่มมีความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเราพยายามอย่างยิ่งที่จะชะลอการเดินทางของแรงงานไทยไปยังภูมิภาคนี้ ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เข้าใจดีว่าการเข้าไปทำงานของแรงงานไทยเพราะต้องการมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า แต่อยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนและประชาชนชาวไทยว่าขณะนี้สถานการณ์ในตะวันออกกลางมีความขัดแย้งรุนแรง จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายและประชาชนไม่เดินทางไปยังอิสราเอลและภูมิภาคตะวันออกกลาง
รมว.การต่างประเทศ กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุเสียชีวิตของแรงงานไทย สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ประท้วงต่อหน่วยราชการของอิสราเอล เพราะพื้นที่ที่แรงงานไทยเสียชีวิตนั้น เป็นพื้นที่ที่ทางการอิสราเอลประกาศเป็นพื้นที่ทางทหาร แต่นายจ้างชาวอิสราเอลพยายามนำแรงงานเข้าไปทำงานชั่วคราว 2-3 ชั่วโมง แม้เป็นระยะเวลาสั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเกิดการโจมตีเมื่อใด จึงทำให้เราได้รับข่าวร้ายและมีการสูญเสีย ที่สำคัญ ตนไม่ต้องการเห็นแรงงานไทยเสียชีวิตในภูมิภาคตะวันออกกลางอีก จึงขอให้หน่วยราชการไทย ร่วมกันช่วยชะลอการเดินทางของคนไทย เข้าไปทำงานในภูมิภาคดังกล่าว
เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์แล้วมีความน่าเป็นห่วงใช่หรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า สถานการณ์น่าเป็นห่วงแน่นอน กรณีการขยายตัวของสงครามมีแน่นอน แม้มีการปะทะกันเป็นกรณี แต่มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะสร้างความเสียหายต่อประชาชน ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จึงใช้กรณีนี้เรียกร้องรัฐบาลอิสราเอล ยุติการนำแรงงานไทยเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ที่อิสราเอลประกาศเป็นพื้นที่ต้องห้าม
นายมาริษ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนยังได้ทำหนังสือถึง รมว.ต่างประเทศของอิสราเอลแล้ว ในฐานะที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เราจึงมีหน้าที่ต้องแสดงจุดยืนในเรื่องสำคัญ จึงขอให้อิสราเอลใช้ความยับยั้งชั่งใจเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น และขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่จะนำไปสู่การขยายตัวของสงคราม และต้องมาเจรจาเพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้ง บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติเป็นหลัก เพราะจุดยืนของไทยคือยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง