เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส. ร่วมกับ เครือข่ายงดเหล้า มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม พร้อมภาคส่วนต่างๆ แถลงข่าว “ชวนลอยกระทงสร้างสุข พ้นทุกข์โรคภัย ใส่ใจสายน้ำ” เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจากการถอดบทเรียน เรามีการรณรงค์งานลอยกระทงต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ในภาพรวมพบว่าสถานการณ์ในพื้นที่จัดงานดีขึ้นมาก ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตราย อาทิ ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ขณะที่โคมลอยซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 2566 สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท รวมถึงการจุดประทัดยักษ์ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูญเสียอวัยวะจากแรงระเบิด สิ่งเหล่านี้ยังต้องหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะมีหลายพื้นที่จัดกิจกรรมปล่อยโคมลอย และจุดประทัดยักษ์ในเทศกาลดังกล่าวอยู่ 

นายมานพ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากผลการสำรวจนักท่องเที่ยวในงานลอยกระทงปี 2566 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย เชียงใหม่ ตาก ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู กลุ่มตัวอย่าง 2,448 คน พบว่า นักท่องเที่ยว เห็นด้วยกับการจัดงานลอยกระทงแบบปลอดเหล้า 81% อยากให้มีการตรวจตราบังคับใช้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 76% เห็นว่าทำให้การทะเลาะวิวาทในงานลดลง 90.6% ขณะที่เด็กเยาวชน 80.8% เห็นว่าไม่ควรขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน ดังนั้น เจ้าภาพจัดงานลอยกระทงปีนี้ ในพื้นที่ต่างๆ ควรวางมาตรการควบคุม ป้องกันปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้ผู้ร่วมงานมีความปลอดภัย เที่ยวงานอย่างสบายใจ ไม่มีคนเมา ไม่มีความเสี่ยงจากเหตุทะเลาะวิวาท และขอให้ถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการจัดกิจกรรม งานบุญประเพณีปลอดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย สร้างรายได้ที่ยั่งยืน 

“ส่วนภาคประชาสังคมก็จะร่วมเฝ้าระวังเนื่องจากนโยบายรัฐที่เน้นการกรตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยผับบาร์สถานบันเทิง ดื่มกินเสรีมากขึ้น รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมต่อเด็กเยาวชนมากขึ้น” นายมานพ กล่าว

ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวว่า จากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาร่วมกันของภาคสังคมทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้พื้นที่จัดงานลอยกระทงกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ หันมาเน้นเรื่องความปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ยกตัวอย่างบทเรียนจากพื้นที่หลักสำคัญ อาทิ สุโขทัย ตาก เชียงใหม่ ที่เปลี่ยนจากพื้นที่เสี่ยงอันตรายกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็กเล็ก ก็สามารถเดินเล่นลำพังคนเดียวได้หลังสี่ทุ่มเพราะปราศจากคนเมา

ดังนั้น ลอยกระทงที่จะถึงนี้จึงขอเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ควบคุมไม่ให้มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในพื้นที่จัดงาน รวมทั้งควบคุมร้านค้าและจุดจำหน่ายในพื้นที่ไม่อนุญาตให้มีการขาย และจัดหน่วยเฉพาะกิจประชาสัมพันธ์ตรวจเตือน เพื่อลดปัญหาและผลกระทบจากความมึนเมา 2. ร่วมกันควบคุมโคมลอย ประทัดยักษ์และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไม่ให้มีการจำหน่าย และนำเข้ามาจุด มาลอยในพื้นที่โดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงเกิดไฟไหม้  ปัญหาขยะจากโคมที่ลอยไปตกเกลื่อนตามที่ต่างๆ และดูแลความปลอดภัยท่าน้ำ

3.ร่วมกันรักษาคุณค่าวิถีวัฒนธรรม ทำประเพณีวัฒนธรรมให้ร่วมสมัย ให้เด็กเยาวชนเข้ามาร่วมต่อยอดวิถีวัฒนธรรมเดิม ร่วมกันทำให้เห็นว่ากิจกรรมวันลอยกระทง ไม่ใช่มีแค่การลอยกระทง เพราะมีคุณค่าความหมายมากกว่านั้น และ 4. ร่วมกันหาแนวทางและสร้างรูปธรรมในการอนุรักษ์ดูแลปกป้องแม่น้ำ แหล่งน้ำ ดินน้ำป่า เชื่อมโยงกับภัยพิบัติที่เรากำลังเผชิญในหลายพื้นที่และหาทางดำเนินการร่วมกันอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้งานลอยกระทงมีคุณค่าและความหมาย ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของพลังทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภัยพิบัติ กลายเป็นต้นทุนทางสังคมต่อไปในอนาคต.