จากกรณี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการ หลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากกว่าร้อยวัน เหลือเพียง 5 วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อยู่อาศัยในไทยมานานรอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายสุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีการเสนอร่างหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ว่า ที่ผ่านมา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล โดยได้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มเป้าหมายและผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในพื้นที่ที่กำหนด มีการรับรองสถานะให้กลุ่มเป้าหมายสามารถอาศัยอยู่ในประเทศอย่างถาวรมาแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย ซึ่งต้องเข้ามาในประเทศไทยภายในวันที่ 30 กันยายน 2542
สำหรับปัจจุบันชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ตามกลุ่มเป้าหมาย 19 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มชาวเขาดั้งเดิม 9 เผ่า คือ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน อาข่า ลาหู่ ลีซู ลัวะ ขมุ และมลาบรี 2. กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงหรือชุมชนพื้นที่สูงที่อพยพเข้ามาก่อนและหลังวันที่ 3 ตุลาคม 2528 3.กลุ่มอดีตทหารจีนคณะชาติ 4. กลุ่มจีนฮ้ออพยพพลเรือน 5. กลุ่มจีนฮ้ออิสระ 6. กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า 7. กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า 8. กลุ่มชาวเวียดนามอพยพ 9. กลุ่มชาวลาวอพยพ 10. กลุ่มเนปาลอพยพ 11. กลุ่มอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา 12. กลุ่มไทลื้อ 13. กลุ่มม้งถ้ำกระบอกที่ทำประโยชน์ 14. กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา 15. กลุ่มผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชาที่อพยพเข้ามาก่อนและหลังวันที่ 15 พฤศจิกายน 2520 16. ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่อพยพเข้ามาก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2519 17. ชาวลาวภูเขาอพยพ 18. ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่อพยพเข้ามาหลังวันที่ 9 มีนาคม 2519 และ 19. ชาวมอแกนที่ประสบภัยสึนามิ
โดยกลุ่มทั้ง 19 กลุ่ม อาศัยอยู่ในไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 825,635 คน รัฐได้ดำเนินการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใบสำคัญถิ่นที่อยู่) และอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มเป้าหมายไปแล้ว 342,009 คน ยังคงเหลือกลุ่มเป้าหมายที่รอการพิจารณากำหนดสถานะมากถึง 483,626 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน (อนุมัติให้ใบสำคัญถิ่นที่อยู่) ดำเนินการแล้ว 34,697 คน รอพิจารณากำหนดสถานะ 340,101 คน กลุ่มบุตรของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในไทย (อนุมัติให้สัญชาติไทย) ดำเนินการแล้ว 307,312 คน รอพิจารณากำหนดสถานะ 143,525 คน อย่างไรก็ตามการดำเนินการของทั้งสองกลุ่มนั้น หากนับเฉพาะผู้ที่กำลังรอพิจารณากำหนดสถานะ รวมกว่า 483,626 คน หากไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์คาดว่าจะใช้เวลาถึง 44 ปี ถึงดำเนินการเสร็จสิ้น
อีกทั้งสภาพปัญหาในปัจจุบัน ซึ่ง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการรายงานถึงสภาพปัญหาในปัจจุบัน ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานและกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ได้แก่ 1.การยื่นคำขอเจ้าหน้าที่ ต้องมีการสอบสวนผู้ขอและพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ ประกอบพยานหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ ต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและพฤติการณ์ด้านความมั่นคงไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน โดยต้องผ่านการพิจารณาจาก คกก. ที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอ นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พิจารณาอนุญาต 2.เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้เชี่ยวชาญมีไม่เพียงพอรองรับจำนวนคนยื่นขอพิจารณาสถานะเป็นจำนวนมาก และมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนการทำงาน ดังนั้น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จึงเสนอขออนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลฯ เพื่อใช้ทดแทนหลักเกณฑ์ตามมติ ครม.เดิม โดยยึดกรอบหลักการเดิม (กลุ่มเป้าหมายเดิม) แต่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลักเกณฑ์เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา หลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดสถานะบุคคล แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กรณีกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน พิจารณาให้หนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาญาจักรโดยให้ถือว่าหนังสือรับรองดังกล่าวเทียบเท่าใบสำคัญถิ่นที่อยู่ มีรายละเอียด ดังนี้ การยกเลิกหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นคำขอ จากเดิมที่กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย (4 กลุ่ม) เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในภาพรวม เช่น ไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง/ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ กับประเทศต้นทาง หรือไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น ปรับเปลี่ยนการยืนยันและรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ
จากเดิมเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการสอบสวนผู้ยื่นคำขอและจะต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นให้ผู้ยื่นคำขอยืนยันและรับรองคุณสมบัติของตนเอง เช่น ความประพฤติ และประวัติอาชญากรรม ปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาต จากเดิมจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และเสนอ รมว.มหาดไทย และ นายกฯ เป็นผู้พิจารณาอนุญาต เป็น ในกรณีผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในเขต กทม. ให้ ผอ.สำนักกิจการความมั่นคงภายใน เป็นผู้พิจารณาอนุญาต กรณีจังหวัดอื่นนอกเขต กทม. ให้นายอำเภอ เป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยให้มีตำรวจระดับผู้กำกับการขึ้นไปที่จังหวัดแต่งตั้งร่วมรับรองความประพฤติของผู้อื่นคำขอ และให้อธิบดีกรมการปกครอง มีอำนาจดำเนินการทั่วราชอาณาจักร
การปรับลดระยะเวลา สำหรับการปรับลดระยะเวลาในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น เดิมจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณานานถึง 270 วัน แต่ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่จะลดระยะเวลาลงเหลือ 5 วันเท่านั้น แบ่งเป็น ขั้นตอนการยื่นคำขอ และการตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสารหลักฐาน ประวัติอาชญากรรม (อำเภอ/สำนักกิจการความมั่นคงภายใน) จากเดิม 30 วัน เหลือ 1 วัน ขั้นตอนจังหวัดและกรมการปกครองตรวจสอบพฤติการณ์ด้านความมั่นคง จากเดิม 140 วัน เหลือ 1 วัน ขั้นตอนเสนอ รมว.มหาดไทย และนายกฯ พิจารณา จากเดิม 100 วัน เหลือ 4 วัน ทั้งนี้ หากภายหลังปรากฏว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือมีลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอาจถูกถอนการอนุญาตตาม ม.17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522
สำหรับกลุ่มบุตรของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย จะพิจารณาให้สัญชาติไทย มีรายละเอียดดังนี้ ปรับเพิ่มรายละเอียกลุ่มเป็น “บุตรของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในราชอาณาจักร” ให้มีความชัดเจน โดยต้องเป็นบุตรของบุคคลที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีตจนถึงปี 2542 และที่สำรวจเพิ่มเติมปี 2548-54 ปรับเปลี่ยนการยืนยันและรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ จากเดิมเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการสอบสวนผู้ยื่นคำขอและจะต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นให้ผู้ยื่นคำขอยืนยันและรับรองคุณสมบัติของตนเอง เช่น ความประพฤติ และประวัติอาชญากรรม ปรับเปลี่ยนการอนุญาต โดยจะใช้ภูมิลำเนาของผู้ยื่นคำขอในเขตและจังหวัดอื่นนอกเขต กทม. เป็นเกณฑ์ โดยในเขต กทม. ให้ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน เป็นผู้พิจารณาอนุญาต
ส่วนจังหวัดอื่น นอกเขต กทม. ให้นายอำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยให้มีตำรวจระดับผู้กำกับการขึ้นไปที่จังหวัดแต่งตั้งร่วมรับรองความประพฤติของผู้ยื่นคำขอ และอธิบดีกรมการปกครอง มีอำนาจดำเนินการทั่วราชอาณาจักร การปรับลดระยะเวลา สำหรับการปรับลดระยะเวลาในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น เดิมจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณานานถึง 180 วัน แต่ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่จะลดระยะเวลาลงเหลือ 5 วันเท่านั้น แบ่งเป็น ขั้นตอนการยื่นคำขอ เอกสารหลักฐาน การรับรองคุณสมบัติ และอำเภอหรือสำนักบริหารการทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน จากเดิม 90 วัน เหลือ 1 วัน ขั้นตอนการพิจารณาอนุญาต จากเดิม 60 วัน เหลือ 3 วัน ขั้นตอนการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน การทำบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย จากเดิม 30 วัน เหลือ 1 วัน