เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบรางรถไฟ ตลิ่งชัน พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศ ธนนันท์ทวีสิน อดีต ผบก.ภ.จว.ชลบุรี เดินทางไปยื่นฟ้อง พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย อดีต ผบช.ภ.2 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตาม ป.อาญา ม.157 กรณีกลั่นแกล้งออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยต่อ พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศฯ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คำฟ้องโจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี มีพื้นที่รับผิดชอบภายในจังหวัดชลบุรี ส่วนจำเลยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 มีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจภายในสังกัด มีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัด ในภาคตะวันออก เป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ในขณะนั้น

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2565 มีเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์ร่วมกันทำร้ายร่างกายกลุ่มนักท่องเที่ยวหลายรายได้รับบาดเจ็บ โดยมีและใช้อาวุธปืน มีการใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่จังหวัดชลบุรีในหลังเกิดเหตุ โจทก์ในฐานะผู้บังคับการจังหวัด มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสวนสอบสวนโดยมี พ.ต.อ. ส. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสืบสวนจำนวน 13 นาย โดยมี พ.ต.อ. ก. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2565 จำเลยในฐานะผู้บัญชาการตำรวจภูรภาค 2 ได้มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค 2 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนรวมหลักฐานและขยายผลในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย พล.ต.ต. อ. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โจทก์ พล.ต.ต. ธ. เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน พ.ต.อ. ช. เป็นเลขานุการและมีพนักงานสอบสวน รวมทั้งสิ้น 12 นาย ทั้งยังแต่งตั้งพนักงานสืบสวนอีกจำนวน 17 นาย


นอกจากนี้ พล.ต.อ. ส. รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ในขณะนั้น) ผู้ได้รับมอบอำนาจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ลงมากำกับดูแลการสอบสวนสืบสวนและติดตามคดีด้วยตนเอง แต่ไม่ได้ให้อำนาจ พล.ต.อ. ส. ให้มีอำนาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานตำรวจอื่นเข้าทำการสืบสวนสอบสวนหรือติดตามคดีแทนได้ แต่ พล.ต.อ. ส. กลับมีสั่งการด้วยวาจาให้ พ.ต.อ. ข. ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ต. (ในขณะนั้น) และพวกเข้าร่วมทำการสืบสวนสอบสวนโดยมิชอบ ด้วยการเป็นเจ้าพนักงานที่แสดงตนเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่นั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 171 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 โดยมีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ต้องถูกดำเนินคดีและให้ได้รับโทษทางอาญาและทางวินัย (กรณีนี้โจทก์ได้กล่าวโทษแล้วคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.)

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ได้มี นาย อ. และ นาย น. พาตัวนาย จ. ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัด พ. ในคดีดังกล่าวข้างต้น พร้อมชายอีก 2 คน คือ นาย บ. และนาย ส. เข้ามาพบ พ.ต.อ. ก. รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี (ขณะนั้น) ผู้เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนในคดี นาย จ. เข้ามามอบตัวตามหมายจับ ส่วนนาย บ. และ นาย ส. สมอ้างว่าตนทั้ง 2 คน เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย

จากนั้น พ.ต.อ. ก. ผู้เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน ได้รายงานโจทก์และโจทก์ก็ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นแล้ว จากนั้น โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชาได้เข้ากำกับดูแลการสืบสวนสอบสวน ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนซึ่งทำงานร่วมกันเป็นคณะ มีเจ้าพนักงานตำรวจจำนวนหลายนายจากหลายหน่วยงาน เข้าร่วมสืบสวนสอบสวนและเข้าร่วมสังเกตการณ์ ในจำนวนนี้ยังมี พ.ต.อ. ข. ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ต.(ขณะนั้น) และพวกที่อ้างว่าเป็นชุดคลี่คลายคดีสำคัญโดยรับคำสั่งจาก พล.ต.อ. ส. รวมอยู่ด้วย

ซึ่งในการสืบสวนสอบสวนได้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้ที่มารับสมอ้างเป็นผู้ต้องหา 2 คน คือ นาย บ. และ นาย ส. นั้น มีลักษณะหรืออัตลักษณ์เฉพาะตนไม่ตรงกับบุคคลในภาพวงจรปิดในที่เกิดเหตุ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานให้มาร่วมในการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล ทั้งการตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ การตรวจคราบเขม่าดินปืน และการตรวจ DNA ตรวจพิสูจน์อาวุธปืน และตรวจพิสูจน์รถยนต์ ที่ใช้ในการก่อเหตุ ที่ผู้ต้องหาได้นำมามอบให้กับเจ้าพนักงานตำรวจในวันดังกล่าวเพื่อแสวงหาพยานหลักฐาน ทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคลและผู้ร่วมกระทำความผิด มีการตรวจสอบและเปิดดูภาพจากกล้องวงจรปิดในสถานที่เกิดเหตุเพื่อเปรียบเทียบตรวจสอบยืนยันอัตลักษณ์บุคคลหลายครั้ง กับทั้งมีการซักถามผู้ที่มารับสมอ้างเป็นผู้ต้องหา 2 คน เป็นเวลานานหลายชั่วโมง

โจทก์ได้กำชับคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนให้สอบปากคำผู้เสียหายและพยานซึ่งส่วนมากให้ปรากฏชัดว่าผู้ที่มารับสมอ้างเป็นผู้ต้องหาทั้ง 2 คน นั้นเป็นผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุจริงหรือไม่ อย่างไร มีใครเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดบ้าง หากพบว่า ผู้ที่มารับสมอ้างเป็นผู้ต้องหาทั้งที่มิใช่ผู้ต้องหาที่แท้จริง จักต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานและข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย

ต่อมาในช่วงเวลาบ่ายของวันเดียวกันนั้นมีบุคคลเดินทางเข้ามอบตัวเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงมีความจำเป็นต้องนำตัวบุคคลทั้ง 5 คน ดังกล่าวไปพิสูจน์ทราบตัวบุคคลกับทั้งสืบสวนสอบสวนผู้เสียหายและพยานในเหตุการณ์และหลังจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร ม.ได้ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 จึงได้ส่งตัว นาย อ. นาย บ. และนาย ส. ไปให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธร ม. ดำเนินคดีในฐานความผิดแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและเป็นผู้ใช้ จ้าง วาน ให้กระทำความผิดฯ ต่อศาลแขวงชลบุรี ทั้ง 4 คน ให้การรับสารภาพ และศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษทั้ง 4 คน ไปแล้ว

เมื่อวันที่ 9 และ 11 พ.ย.2565 หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 2 ให้โจทก์ไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับการแจ้งข้อกล่าวหาและให้การ และให้โจทก์ไปพบพนักงานสอบสวน (ครั้งที่ 2) โดยในครั้งนี้ได้ออกหมายเรียกโจทก์มาพบในฐานะผู้ต้องหา เพื่อรับการแจ้งข้อกล่าวหาและให้การ และเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2565 พนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งตำรวจภูธภาค 2 ดังกล่าว ได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนโดยไม่มีอำนาจหน้าที่เนื่องจากเป็นอำนาจของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน กับพวกรวม 9 คน (อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.)

จำเลยซึ่งเป็น ผบช.ภ.2 ทราบข้อเท็จจริงตามข้อ 2 เป็นอย่างดี ทั้งยังทราบอีกว่า พลตำรวจเอก ส. ขณะดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 64 ประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดลักษณะงานและการมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้ จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองจเรตำรวจแห่งชาติ (สบ 9 ) โดยได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นเพียงผู้รับผิดชอบ ควบคุม กำกับ ดูแลงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติข้างต้นให้ควบคุม กำกับ ดูแลการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญาของสถานีตำรวจภูธร ม.

โดยทราบดีว่า พล.ต.อ. ส. มิใช่หัวหน้าพนักงานสอบสวน ทั้งทราบดีว่า พล.ต.อ. ส. ไม่มีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดให้กระทำการแทนได้ อันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนนั้น และทราบดีว่า พ.ต.อ. ข. พ.ต.อ. ศ. และ พ.ต.ท. ธ. มิใช่เจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัด ช. มิใช่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ตามคำสั่ง ภ.จว.ชลบุรี เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคดีอาญาของสถานีตำรวจภูธร ม. และมีใช่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 2 ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายในการรวบรวมพยานหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา กับทั้งไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉบับใดแต่งตั้งให้ พ.ต.อ. ข. พ.ต.อ. ศ. และ พ.ต.ท. ธ. กับพวก เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้

การที่ พล.ต.อ. ส. ใช้ จ้างวาน ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือ มีคำสั่งให้ พ.ต.อ. ข., พ.ต.อ. ศ. และ พ.ต.ท. ธ. กับพวก เข้าแทรกแซงการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ เป็นการกระทำที่มิชอบและขัดต่อพ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 63(4) 64 และ มาตรา 107 มิชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี มิชอบด้วย คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิชอบด้วย หนังสือ ตร. ด่วนที่สุด เรื่อง การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มิชอบด้วยระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จำเลยผู้ดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ. 2 ทั้งเคยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในกองบัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่าการที่ พล.ต.อ. ส. ได้สั่งการให้ พ.ต.อ. ข. และพ.ต.ท. ธ.กับพวก ที่ส่วนมากมีตำแหน่งในสังกัด สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เข้าแทรกแซงการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายแต่จำเลยกลับช่วยเหลือและให้การสนับสนุน พ.ต.อ. ข., พ.ต.อ. ศ. และ พ.ต.ท. ธ. เข้าแทรกแซงการสืบสวนสอบสวนในคดีของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 2

และเมื่อ พ.ต.อ. ข. ได้จัดทำรายงานการสืบสวนรายงานด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ จากพยานหลักฐานและด้วยวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายรายงานเสนอต่อ พล.ต.อ. ส. และ จำเลยรวม 2 ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ 22 ต.ค. และวันที่ 25 ต.ค.2565 จากนั้น พล.ต.อ. ส. ได้มีบันทึกสั่งการท้ายรายงานการสืบสวนฉบับลงวันที่ 22 ต.ค.2565 ถึง จำเลยว่า “ทราบ ดำเนินการตามเสนอ มอบ ผบช.ภ.2 ดำเนินการ” และจำเลยก็ได้มีบันทึกสั่งการท้ายรายงานการสืบสวนเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 25 ต.ค.2565 ถึง พล.ต.ต. อ. รอง ผบช.ภ.2 ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน “เพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานผลการสืบสวน หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และ รายงานผลให้ทราบภายใน 29 ต.ค.65” เป็นการยืนยันและสนับสนุนว่า จำเลย ร่วมกัน สั่งการ ใช้ จ้างวาน สมคบกัน ช่วยเหลือ และหรือให้การสนับสนุน ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ พ.ต.อ. ข. กับพวก กระทำความผิดดังกล่าว

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2565 จำเลยได้มีคำสั่งและมอบหมายให้ พ.ต.อ. ช.เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรีเวลา 17.05 น. ความว่า ได้รับคำสังจาก ผบช.ภ.2 (หมายถึง จำเลย) ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อ ดำเนินคดีกับ พ.ต.อ. ก. รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี โดยจำเลยได้มีคำสั่งและมอบหมายให้ พ.ต.อ. ช. เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และต่อมาเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2565 พ.ต.อ. ช. ก็เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์โดยอ้างมูลเหตุเดียวกันดังกล่าว

จากนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการ ให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการ ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการ ปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2565 จำเลยมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค 2 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมีเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งให้มีการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อโจทก์ ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจเนื่องจากขณะสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้นโจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลย เพราะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม และโจทก์ก็ได้เดินทางไปรายงานตัวและปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงขาดจากการบังคับบัญชาของจำเลยไปแล้ว จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่จะมีอำนาจสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงต่อโจทก์ได้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2565 จำเลยเป็นผู้มีคำสั่งและมอบหมายให้ พ.ต.อ. ช.เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองชลบุรี ให้ดำเนินคดีอาญา ต่อ พ.ต.อ. ก. และเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2565 พ.ต.อ. ช. ก็เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์ ด้วยมูลเหตุเดียวกันดังกล่าวแล้วนั้น ดังนั้นโดยสถานะทางกฎหมายแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้กล่าวหาและร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับ พ.ต.อ. ก. และโจทก์ การที่จำเลยมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยต่อโจทก์ จึงมิชอบด้วย กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2547 หมวด 1 การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ข้อ 3 ที่กำหนดว่า “ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการสอบสวนจะต้องไม่เป็นบุคคคลดังต่อไปนี้…(4) เป็นผู้กล่าวหา…”

อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยยังเป็นผู้มีส่วนร่วม สั่งการ ใช้ จ้างวาน สมคบกัน ช่วยเหลือ และหรือ ให้การสนับสนุน ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ พ.ต.อ. ข. กับพวก จัดทำรายงานอันเป็นเท็จและไม่ชอบดังกล่าวข้างต้น แล้วจำเลยยังนำรายงานที่ไม่ชอบดังกล่าว เป็นมูลฐานเพื่อสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อโจทก์ ย่อมเท่ากับว่ากับว่าจำเลยเป็นผู้รู้เห็นเหตุในเรื่องที่สอบสวน อีกทั้ง ยังเป็นกรณีที่มีเหตุอื่นซึ่งน่าเชื่ออย่างยิ่งว่าจะทำให้การสอบสวนเสียความเป็นธรรม ในกรณีนี้โจทก์ได้เคยมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและโต้แย้งอำนาจพนักงานสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 2 ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวม 2 ฉบับ การที่จำเลยมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อโจทก์ จึงมิชอบด้วย กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2547 ข้อ 3(1) (5) และ วรรคท้าย อีกด้วย

การกระทำของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติและ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง

โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้เพื่อตรวจฟ้อง เป็นคดีอาญาหมายเลข ดำที่ อท 168/2567 และให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำหรือคำสั่งชั้นตรวจฟ้อง ในวันที่ 19 พ.ย.2567 เวลา 09.30 น.