เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตนได้เปิดการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมบรรยายพิเศษการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 Agenda พัฒนาอาชีวศึกษา “ทำดี ทำได้ ทำทันที” OVEC ONE TEAM ซึ่งการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ทุกท่านจะได้ทราบแนวนโยบาย และร่วมกันทบทวนถึงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงเป็นการวางรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาสู่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนโยบายเรียนดีมีความสุข ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งที่ผ่านมา ครู อาจารย์ ผู้บริหาร และภาคส่วนต่างๆ คือ กลไกให้เกิดความสำเร็จ ได้ร่วมมือกันอย่างดีในการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จําเป็น 3 ด้าน คือ ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต ขับเคลื่อนผู้เรียนอาชีวะมีรายได้ระหว่างเรียน

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สอศ.ยังได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาภายใต้ศูนย์ CVM และ Excellent Center สร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะสูง เช่น พาณิชย์นาวี ยานยนต์สมัยใหม่ EV และนำ AI Digital มาใช้ในการเรียนการสอน ร่วมกับสถานประกอบการปรับหลักสูตรสอดคล้องให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ จบแล้วมีงานทำตรงตามความต้องการที่หลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ ภาคการโรงแรม ซึ่งจะเห็นถึงการพัฒนายกระดับอาชีวศึกษาที่เกิดขึ้น และการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาด้านเกษตร ยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่ง รมว.ศธ. เน้นย้ำ การจัดการเรียนการสอนเป็นสมัยใหม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และในปี 2568 นี้ ทุกท่านคือส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนด้วยแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” สร้างความสามัคคี ปูพื้นฐานต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อความสำเร็จของอาชีวศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาประเทศชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม สอศ.มีนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 “8 Agenda พัฒนาอาชีวศึกษา ทำดี ทำได้ ทำทันที OVEC ONE TEAM” ดังนี้ 1.ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) 2.ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา 3.เสริมสร้างอาชีวศึกษาแห่งความสุข ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.พัฒนาทักษะและสมรรถนะวิชาชีพกำลังคน (Skill Certificate) 5.พัฒนาภาคีเครือข่ายและเสริมพลังความร่วมมือ 6.ยกระดับการบริหารและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา 7.เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่ และ 8.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอาชีวศึกษา