เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ทันในการเลือกตั้งปี 70 เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประชามติยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม ซึ่งอาจทำไม่ทันพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงเดือน ก.พ.68 จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่ว่า ยอมรับว่าอาจจะกระทบกับรัฐบาลซึ่งก็ต้องมีการหารือร่วมกัน เนื่องจาก สว.ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายประชามติที่ สส.ส่งขึ้นไป และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยเตรียมจะส่งกลับมาอีกครั้งหนึ่งและมีเวลาทิ้งเอาไว้ประมาณ 180 วัน จึงทำให้การทำประชามติครั้งแรกที่เราตั้งใจไว้ว่าจะทำไปพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงต้นปี 68 ไม่ทัน เพราะติดในเรื่องเงื่อนเวลาของกฎหมาย
นายดนุพร กล่าวว่า และในส่วนที่เราทำหนังสือสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งจะต้องทำสามครั้ง จึงทำให้กระบวนการทั้งหมดโดนเลื่อนออกไป ทำให้การทำประชามติไม่ทันแน่ๆ แล้ว ก็เลยทำให้กระทบขั้นตอนอื่นๆ เป็นลูกโซ่ไป อย่างไรก็ตาม จะได้หารือกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ฐานะรองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ว่าเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปถึงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเสร็จไม่ทันในการเลือกตั้งปี 70 หรือไม่
“แม้ว่าการทำประชามติจะไม่ทัน ถามว่าเราจะสามารถเร่งในส่วนอื่นที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ สามารถใช้ได้ทันการเลือกตั้งปี 70 ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องหารือกับนายชูศักดิ์ ว่ามีขั้นตอนใดที่เราจะสามารถเร่งเพื่อให้กระชับขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันจริง ก็ต้องใช้กติกาเดิม ซึ่งก็ต้องเหนื่อยกันหน่อย เพราะมีหลายอย่างที่เรามองว่าเป็นจุดที่ควรจะแก้ไข ซึ่งก็อาจจะต้องหารือกันว่าจะแก้รายมาตราได้หรือไม่ เช่น กฎหมายลูกของ กกต.ที่ใช้เลือกตั้ง
เมื่อถามถึงกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ทำหนังสือขอเข้าพบกับนายกฯ ประธานสภาฯ และประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกและแผนใหม่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง นายดนุพร กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะนโยบายของพรรคปชน. คืออยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลและพรรคพท.ก็ระบุไว้ตั้งแต่หาเสียงแล้วว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เมื่อเราเข้ามาเป็นรัฐบาล เข้ามาจับจริงๆ เห็นได้เลยว่าแก้ยากมาก ติดล็อคไปหมด ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีซึ่งทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือ และถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะทางรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าควรจะแก้ไข ดังนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร