เมื่อวันที่ 1 พ.ย. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีคดีพิเศษที่ 115/2567 หรือคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ว่า สำหรับประเด็นที่มีกระแสข่าวเมื่อวันที่ 31 ต.ค. มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าไปสอบปากคำผู้ต้องขังชายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับเรื่องดิไอคอนกรุ๊ปฯ นั้น ตนยืนยันว่าไม่มี แต่จะมีเพียง ก่อนหน้านี้หลายวันแล้วที่ได้มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปสอบข้อเท็จจริงจากนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ซึ่งบอสพอลได้ยืนยันว่าในอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้มีการไปให้ผลประโยชน์ใดต่อดีเอสไอ รวมถึงไม่ได้มีการติดต่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเลย

พ.ต.ต.ยุทธนา ยังชี้แจงถึงกรณีที่ทนายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของบอสพอล ได้ให้สัมภาษณ์ขอให้ดีเอสไอพิจารณาดำเนินคดีกับนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด และพยานที่นายเอกภพพามา กรณีที่นำพยานเท็จเข้ามาพบตำรวจและอ้างว่าดีเอสไอเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เรียกรับเงินจาก “ดิไอคอนกรุ๊ป” ทำให้ดีเอสไอได้รับความเสียหาย ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ หากพบว่าเป็นเรื่องเท็จและเกิดความเสียหายก็จะพิจารณาดำเนินคดีทั้งหมด ดีเอสไอต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงประเด็นที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธานกมธ. และประเด็นของนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. ที่ตั้งข้อสงสัยนั้น ถือเป็นประเด็นเดียวกัน ดีเอสไอจึงยืนยันว่าหากตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริงก็ต้องดำเนินคดี

ส่วนเรื่องมีการพบข้อมูลว่ามีการโอนเงินจากบัญชีของบอสพอลไปให้แม่ของนักการเมือง ส. จำนวน 2.5 ล้านบาทนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา แจงว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ และรวบรวมพยานหลักฐาน มิใช่มีการกล่าวอ้างพาดพิงบุคคลใด แล้วดีเอสไอจะต้องไปดำเนินคดีบุคคลนั้นทันที มันต้องมีกระบวนการ ระยะเวลาไปรวบรวมหลักฐานก่อน

ส่วนกรณีที่ในวันนี้ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ทนายวิฑูรย์ จะพาพยานกว่า 2,000 รายมาเข้าให้ปากคำกับดีเอสไอ รวมถึงจะสอบถามศักยภาพของเจ้าหน้าที่ว่าในแต่ละวันจะสามารถสอบปากคำพยานได้กี่รายนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา ระบุว่า ตนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เตรียมรับเรื่องและให้ข้อมูล อีกทั้งต้องดูก่อนว่าทั้ง 2,000 รายนี้มีความประสงค์เป็นพยานจริงหรือไม่ เป็นใครบ้าง และคนเหล่านี้จะให้การในประเด็นใดบ้าง เพื่อพิสูจน์ความจริงในประเด็นอะไร

ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการนำหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนชุดเดิมมาร่วมสอบสวนกับดีเอสไอ รวมถึงการส่งหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้มีอัยการมาเป็นที่ปรึกษาในคดีนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา ปิดท้ายว่า ทุกอย่างอยู่ระหว่างดำเนินการ

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ ชี้แจงกรณีที่นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (31 ต.ค.) ในกรณีคลิปเสียงเรื่องเทวดามีการพาดพิงถึงดีเอสไอ แต่ดีเอสไอกลับนิ่งเฉย ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ตัวเองถูกพาดพิงได้รับความเสียหาย ว่า เรื่องนี้ทางเราได้ชี้แจงไปแล้วตั้งแต่แรก และ รรท.อธิบดีดีเอสไอ ก็ได้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่ และทางตำรวจสอบสวนกลางก็เป็นคนดูเรื่องการรับสินบน ซึ่งเป็นองค์กรภายนอก ทางเราก็ยินดีให้ตรวจสอบอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นที่ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมถึงมีพลเมืองดีมาแจ้งเบาะแสกับดีเอสไอ ว่ามีทรัพย์สินของกลุ่มดิไอคอนฯ มาเก็บไว้อยู่ในอพาร์ตเมนต์ ซอยรามอินทรา 9 แต่ไม่ไปแจ้งเบาะแสกับกองปราบฯ นั้น พ.ต.ต.วรณัน ระบุว่า ตอนนั้นยังไม่มีการโอนสำนวนคดีจากตำรวจมาให้ดีเอสไอ และประเด็นนี้ทางผู้แจ้งเบาะแสคงอธิบายไม่ได้ เพราะเขาเชื่อมั่นจึงมาร้องเรียนกับดีเอสไอ และที่ผ่านมาดีเอสไอได้สื่อสารมาตลอดว่าเราทำงานร่วมกับทางตำรวจมาตลอด สังคมก็รับรู้ และดีเอสไอก็เน้นในเรื่องการฟอกเงิน ดังนั้น ในมุมมองส่วนตัวจึงมองว่าไม่แปลกถ้าประชาชนเห็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในคดี แล้วจะมาร้องทางเราให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบ

พ.ต.ต.วรณัน ระบุอีกว่า ส่วนความคืบหน้าทางคดีตอนนี้ภายหลังดีเอสไอมีการรับสำนวนมาจากตำรวจ ทาง รรท.อธิบดีดีเอสไอ เป็นห่วงเรื่องรอยต่ออำนาจ ซึ่งได้ทำหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่องอำนาจการสอบสวนว่าตำรวจสามารถทำต่อได้ และได้เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อมีการแต่งตั้งตำรวจและหน่วยราชการอื่นในการเข้ามาช่วยเหลือทางคดี ซึ่งเสนอคำสั่งแต่งตั้งไปแล้ว แต่ระหว่างที่รอการแต่งตั้งกรรมการชุดดังกล่าว ในเรื่องของการสอบสวนนั้น ตำรวจก็ยังคงดำเนินการได้ตามเดิม ส่วนการออกหมายจับแม่ทีมแม่ข่ายแถวอื่น ๆ ทางตำรวจก็สามารถออกหมายจับหมายเรียกได้ ภายใต้ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หรือกฎหมายดีเอสไอ ที่ให้บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน แต่สุดท้ายแล้วก็จะต้องมีการรวบรวมและเสนอให้ รรท.อธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้มีความเห็นทางคดี.