ที่บริษัทพรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช 2012 จำกัด อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร นายนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ FIELD DAY” โดยมี นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด(มหาชน) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณะผู้จัดงาน นายฉลอง อินทนนท์ เกษตรจังหวัดสกลนคร นายอำเภอโพนนาแก้ว หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมกิจกรรม โดยภายในงานวันนี้ได้จัดกิจกรรมหลัก ๆ 4 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนการจัดประกวดมันสำปะหลัง 2.ส่วนฐานเรียนรู้ 3.ส่วนการจัดนิทรรศการ 4. ส่วนช่วงท้ายกิจกรรม มีการจับฉลากเพื่อมอบของรางวัลแก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมงาน
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรจังหวัดสกลนครอย่างมาก ที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรยังมีความต้องการองค์ความรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในการผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งเดิมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ ให้มีผลผลิตสูงและคุณภาพดีขึ้น โดยการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มสัดส่วนคุณภาพแป้ง และเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ดังนั้นการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จึงมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลัง ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกที่ถูกต้อง การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการแปลงให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญให้อาชีพเกษตรกรมันสำปะหลังมีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน
นายรัฐวิรุฬห์ กล่าวว่า จังหวัดสกลนคร มีเกษตรกร กว่า 3,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 25,000 ไร่ ที่เป็นผู้ส่งมอบมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงาน บริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด (มหาชน) ในการนำเงินตรากลับเข้าสู่ประเทศ เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท กว่าปีละ 75,000 ตัน โดยส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 และพร้อมมุ่งมั่นเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องในระดับอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ มันสำปะหลัง เป็นพืชที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สามารถปลูกได้หลายพื้นที่มีความทนแล้ง อีกทั้งสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตตันต่อไรได้อีก และในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ยังมีความต้องการสูง แต่ปัจจุบันการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เป็นการปลูกและจัดการโดยใช้แรงคนเป็นหลัก ทำให้เกษตรกรมีขีดจำกัดในการดูแลแปลงมันสำปะหลัง และไม่สามารถจัดการแปลงได้ทันตามฤดูกาล ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ อีกทั้งยังพบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าสู่ช่วงผู้สูงวัย และยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัย ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถ ด้านการผลิตมันสำปะหลัง จึงจำเป็นต้องสร้างต้นแบบบระบบปลูกมันสำปะหลัง โดยการใช้เครื่องจักรการเกษตร เพื่อทดแทนแรงงานในการจัดมันสำปะหลัง และสนับสนุนให้มีแหล่งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรกลการเกษตรในการเพิ่มผลผลิต เพื่อเป็นแบบอย่าง และแนวทางด้านการจัดการแปลงมันสำปะหลังอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการใช้พันธุ์มันสำปะหลัง ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การจัดการถูกวิธีต่อช่วงอายุการเก็บเกี่ยวจนเป็นวัตถุดิบมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้และความยั่งยืนในอาชีพการปลูกมันสำปะหลัง ให้แก่พี่น้องเกษตรกรต่อไป