เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ตึกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการยื่นคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่อาจถูกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการครอบงำและชี้นำพรรค ว่า กระบวนการยื่นคำร้องในเรื่องลักษณะนี้ ควรมีการบัญญัติให้ชัดเจนว่า กรณีใดที่จะยุบพรรค กรณีใดที่จะไม่ยุบพรรค สำหรับกรณีของพรรคเพื่อไทย ตนไม่ขอก้าวล่วงว่าจะเป็นการครอบงำหรือไม่ เพราะตนไม่ใช่คนในพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่อยากให้พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากประชาชนนั้น ตายหรือถูกยุบโดยองค์กรอิสระ เนื่องจากจะเกิดคำถามตามมาว่าองค์กรอิสระมีที่มาจากที่ใด มีความโปร่งใสหรือไม่ ความรับผิดชอบคืออะไร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นควรได้สัดส่วนกับโทษ ไม่ใช่ทุกกรณีต้องตัดสินยุบพรรคทั้งหมด ตนมองว่าไม่เป็นไปตามหลักการและสามัญสำนึก ตนมีความเห็นว่า โทษจากการทำรัฐประหารควรหนักกว่ากรณีการครอบงำพรรค

นายพิธา กล่าวอีกว่า ก่อนยุบพรรคอนาคตใหม่ ทางพรรคไม่มีโอกาสชี้แจงหรือต่อสู้ แต่เมื่อเช้านี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ระเบียบว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ตามข้อ 7 วรรค 2 ที่กำหนดขึ้นหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่นั้น กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องมารับทราบข้อเท็จจริง และมีโอกาสแสดงความคิดเห็น พร้อมเสนอเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มองว่าเป็นสิทธิของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าชี้แจง

เมื่อถามว่าประเด็นการยุบสภาที่สังคมมองว่ารัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญหลายปัญหา อาจชิงยุบสภาไปก่อนนั้น นายพิธา กล่าวว่า ถือเป็นอำนาจเด็ดขาดของนายกฯ ทั้งนี้ อุบัติเหตุทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ตนเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน ต้องพร้อมเลือกตั้งในทุกโอกาส

นายพิธา กล่าวอีกว่า สิ่งแรกๆ ที่ควรทำ คือ การแก้รัฐธรรมนูญ การทำประชามติ การนิรโทษกรรมทางการเมือง แต่กลับประวิงเวลา โดยการศึกษาซ้ำ ๆ ไม่มีความแน่นอน อย่างบางญัตติลงมติงดออกเสียง ทั้งที่เป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวด้วยตนเอง แต่ขอเป็นกำลังใจให้นักการเมืองที่ทำงานเพื่อประชาชน รวมถึงนายกฯ ด้วย