โดยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความจำเป็นของที่อยู่อาศัยสีเขียวต่อกลุ่มผู้ซื้อในวงกว้าง ภายใต้ความท้าทายด้านต้นทุน และมาตรฐานรับรองในระดับสากล

ปัจจุบันผู้ประกอบการ ทั้งต่างประเทศ และไทยมีการนำแนวคิด ESG มาเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง จนถึงการอยู่อาศัย ดังนี้

ในช่วงก่อนเข้าอยู่อาศัย : ผู้ประกอบการคำนึงถึงการลดผลกระทบตั้งแต่จุดเริ่มต้น ผ่านการออกแบบและการก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งการลดการเกิดของเสียและเริ่มใช้การก่อสร้างสำเร็จรูป ซึ่งสะท้อนถึงความแพร่หลายของการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการของเสีย และการใช้เทคโนโลยีทางการก่อสร้าง

ในช่วงเข้าอยู่อาศัย : ผู้ประกอบการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานและนํ้า รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการอยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัย ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้อยู่อาศัย

นอกจากนี้สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติของสหรัฐอเมริการะบุแม้ว่า การพัฒนาโครงการบ้านสีเขียวจะมีต้นทุนสูงกว่าโครงการทั่วไป แต่หากพัฒนาโครงการที่เน้นบ้านสีเขียวมากขึ้น จะส่งผลให้มีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียวไม่สูงมากนักจากความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น และการเกิด Economies of Scale ในการพัฒนาโครงการบ้านสีเขียว

จากผลสำรวจ Residential real estate survey 2567 โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคต่อความสนใจและการยินดีจ่ายเงินเพิ่มในอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัย พบว่า กลุ่ม Gen Z (อายุประมาณ 15-27 ปี) ให้ความสนใจและยินดีจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการที่ให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ สะท้อนความตื่นตัว และให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทเป็นกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้นในระยะต่อไป

SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการควรมุ่งดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบจากภาคธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินการภายในองค์กร และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกองค์กร ทั้งช่วงก่อนและระหว่างเข้าอยู่อาศัย แม้ว่าผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทางด้านต้นทุน และมาตรฐานรับรองในระดับสากล รวมถึงยังต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความจำเป็นของที่อยู่อาศัยสีเขียวต่อกลุ่มผู้ซื้อในวงกว้าง อย่างไรก็ดี ในระยะยาวการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยอาจดำเนินงานตามแนวทาง ดังนี้ ลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียว : ผู้ประกอบการควรลงทุนปรับใช้เทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีก่อสร้างสำเร็จรูป ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียว ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการลดการใช้ทรัพยากร และระยะเวลาก่อสร้าง รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ในการลดมลพิษ

การพัฒนาโครงการตามมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยสีเขียว : ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดันให้มีการนำมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยสีเขียวมาปรับใช้ โดยอาจเริ่มจากมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยแนวราบในไทยอย่าง TREES for Home ก่อนยกระดับการปรับใช้มาตรฐานสากลอย่าง LEED for Homes เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในที่อยู่อาศัยสีเขียวมากขึ้น

การขยายตลาดที่อยู่อาศัยสีเขียว ทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน : ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาสนใจที่อยู่อาศัยสีเขียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การเลือกที่อยู่อาศัยแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติและใกล้ตัวมากขึ้น รวมถึงภาครัฐอาจมีมาตรการจูงใจทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ เช่น การนำเงินลงทุน ค่างวดผ่อนชำระ หรือดอกเบี้ยจากการซื้อหรือลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียวไปลดหย่อนภาษีได้ การให้สินเชื่อในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อซื้อหรือพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสีเขียว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวมากขึ้น.