“ความกลัว” คืออารมณ์ตอบสนองอย่างหนึ่งของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ แต่อาการความกลัวในเรื่องแปลกๆ และมีมากเกินไป เช่น กลัวที่แคบ กลัวความมืด กลัวความสูง หรือกลัวสัตว์ต่างๆ หากไม่สามารถความกลัวเหล่านี้ หรือมีระดับความรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถือได้ว่าเข้าขั้นของลักษณะโรคทางจิตเวช

ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าถึงอาการทางจิตที่ควรระวัง อย่าง “โรคกลัว (Phobia)” ว่าเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่จะมีอาการกลัวขั้นรุนแรงต่อสถานการณ์หรือบางสิ่งบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล แต่ไม่สามารถควบคุมได้ กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน จนอาจจะมีอาการคล้ายโรคแพนิก ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นแรง หายใจเร็ว มือเท้าเย็น ท้องไส้ปั่นป่วน และเวียนหัวตาลาย

สาเหตุของ “โรคกลัว” ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน แต่พบว่าอาจเกิดจาก…

1.เคยมีปัญหาหรือเรื่องราวในอดีตที่ฝังใจ

2.พบเจอ ได้ยิน หรือเห็นเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ

3.พันธุกรรม

4.ความผิดปกติของสมอง

5.ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ

อาการ “โรคกลัว” มีดังนี้…

ตื่นกลัว, วิตกกังวลรุนแรง, ควบคุมตัวเองไม่ได้, หัวใจเต้นเร็ว, ความดันเลือดสูง, หายใจถี่, เหงื่อออก, ปวดหัว, เวียนหัว, พูดติดขัด, ปากแห้ง, คลื่นไส้, มือ เท้า ตัวสั่น, เป็นลมหมดสติ, กล้ามเนื้อตึงชา

กลัวแบบไหนถึงจะเข้าข่าย “โรคกลัว”

อาการกลัวของโรคกลัวติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนมากจะมีอาการทั้งทางกายและจิตใจ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบาก เช่น ต้องหลีกเลี่ยงบางสถานที่ ไม่สามารถเดินทางโดยยานพาหนะบางประเภท หรือถ้าต้องไป ก็อาจมีความเครียด หรือกังวลอย่างมาก ทั้งนี้ หากมีลักษณะดังกล่าวเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับคำปรึกษา

การป้องกันโรคกลัว

สิ่งสำคัญในการป้องกันโรคกลัว คือการค่อยๆ ฝึกเผชิญกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวนั้นๆ ฝึกการผ่อนคลายตัวเองเมื่อเกิดความเครียดขึ้น ผู้คนรอบข้างคอยให้กำลังใจและสนับสนุนให้เผชิญกับสิ่งที่ทำให้เขากลัว

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคกลัว

1.กระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ทั้งเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก

2.ขาดโอกาสในการเข้าสังคม

3.เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวไม่มีความสุข

4.โรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

5.อาจใช้วิธีจัดการกับความเครียดอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“โรคกลัว” อย่างจำเพาะเจาะจง มีกี่ประเภท

1.กลัวสัตว์ เช่น สุนัข แมว นก แมลงต่าง ๆ กลัวในบางสถานการณ์ เช่น ที่แคบ ที่สูง การโดยสารยานพาหนะ เช่น เครื่องบิน เรือ การดำน้ำ

2.ภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว

3.การพบเห็นเลือด เช่น เกิดอุบัติเหตุเลือดออก การฉีดยา การเจาะเลือด ให้เลือด

4.กลัวสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เช่น สิ่งของต่าง ๆ เสียงดัง

โรคกลัว ที่พบได้บ่อย

1.กลัวที่แคบ (Claustrophobia) จะมีอาการอึดอัด ใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อต้องอยู่ในที่แคบ ๆ ไม่ปลอดโปร่ง

2.กลัวเลือด (Hemophobia) ความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเมื่อเห็นเลือด จะมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม

3.กลัวเครื่องบิน (Aerophobia) หวาดกลัวหรือกังวลว่าเครื่องบินจะตก พื้นฐานของคนที่กลัวเครื่องบินมาจากการกลัวความสูงหรือกลัวที่แคบมาก่อน

4.กลัวความสูง (Acrophobia) มีความรู้สึกกลัวใจสั่น มือขาสั่น ไม่กล้ามอง เมื่อต้องอยู่บนที่สูง ๆ บางคนอาจกลัวจนเกิดอาการช็อกได้

5.กลัวเชื้อโรค (Mysophobia) มีความกลัวและกังวลเกี่ยวกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่าง ๆ กลัวที่จะสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ โรคนี้จะทำให้คนที่เป็นรักความสะอาดมาก ๆ ทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา

6.กลัวเข็ม (Needle Phobia) ความกลัวเมื่อเห็นเข็มส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเข็มฉีดยา ทำให้มีอาการใจสั่น ใจเต้นแรง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม

การรักษาโรคกลัว

1.ปรับพฤติกรรมและฝึกจิตใจ เช่น การออกกำลังกายหรือการนั่งสมาธิ ค่อย ๆ ฝึกเผชิญจากสิ่งที่กลัวเล็กน้อยไปสิ่งที่กลัวมาก

2.ฝึกปรับความคิด เช่น การให้กำลังใจตัวเอง คิดเรื่องผ่อนคลายสบายใจเมื่อเผชิญ

3.พบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาแบบจิตบำบัด

4.ใช้ยา เช่น ยาคลายเครียด ยารักษาโรควิตกกังวล

5.ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเป็นโรคกลัว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

1.กล้าเผชิญกับสิ่งที่กลัว

2.ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล เช่น การออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง

3.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และดีต่อสุขภาพ

4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5.มีปฏิสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในสังคม