เมื่อวันที่ 30 ต.ค. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีคดีตากใบที่หมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยในท้ายสุดตำรวจไม่สามารถจับกุมตัวผู้ที่ถูกออกหมายจับ 14 รายได้ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกส่วนระหว่างคดีความและการติดตามตัวผู้ต้องหา ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 แต่ระหว่างนั้นมีทั้งกระบวนการเยียวยา การร้องทุกข์กล่าวโทษ ต้องย้อนดูว่าเกิดขึ้นเมื่อไรภายในอายุความ

ซึ่งการร้องทุกข์กล่าวโทษมี 2 แบบ ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยประชาชนและร้องทุกข์กล่าวโทษโดยตำรวจเองและอัยการสั่งฟ้อง จนกระทั่งเกิดการออกหมายจับ ซึ่งในคดีนี้มีการออกหมายจับเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ตำรวจมีเวลาประมาณ 40 วันในการตรวจค้นและติดตามจับกุม ซึ่งได้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาไปว่าเมื่อมีเวลาเพียงเท่านี้ เราต้องเข้มข้นการทำงาน ทางตำรวจติดตามตรวจค้นได้ 52 จุด และเฝ้าสืบกว่า 200 ครั้ง ตนเองอยากให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของตำรวจ

ผบ.ตร. กล่าวว่า ส่วนที่ศาลเพิ่งออกหมายจับเมื่อ 12 กันยายน 2567 ต้องย้อนดูที่กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษจนนำมาสู่หมายจับ ตนจึงอยากให้เข้าใจตำรวจด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการออกหมายจับ ตำรวจไม่ได้นิ่งเฉย เราสั่งทุกภาคส่วน รวมทั้งประสานกองการต่างประเทศ อินเตอร์โพล ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ผู้ต้องหาอยู่ภูมิลำเนาใด พักที่ใด ตำรวจก็ไปตาม เหมือนแมวไล่จับหนู ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ใต้บังคับบัญชามีความพยายามอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้เปรียบเทียบการจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศ เช่น คดีแป้ง นาโหนด ที่ท้ายสุดสามารถจับกุมตัวได้ ผบ.ตร. กล่าวว่า มีหลายตัวอย่างที่ทั้งจับได้และจับไม่ได้ อย่างที่บอกความยากง่ายมันต่างกัน พร้อมย้ำเราใช้ความพยายามอย่างสูงสุดที่จะไล่จับกุมพวกนี้ให้ได้

เมื่อถามว่าส่วนจะเกิดข้อครหาหรือไม่ เพราะบางคนปรากฏตัวในวันรุ่งขึ้นหลังหมดอายุความ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถติดตามจับกุมได้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า การหนีกับการตามแตกต่างกัน แต่ตำรวจเราทำงานไม่หยุดอยู่แล้ว แต่คนหนีอาจทราบความเคลื่อนไหวของตำรวจ แต่พอคดีหมดอายุความแล้วตัวเขาออกมา ตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการดำเนินคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำ มั่นใจหรือไม่ว่าตำรวจทำเต็มที่แล้ว พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวทันทีว่า “ผมมั่นใจ ผมมั่นใจ ผมตอบเลยว่าผมมั่นใจ”