สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ว่ากระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาเผยแพร่แถลงการณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีเนื้อหาสำคัญว่า เมียนมามีความพยายามแสวงหาแนวทางคลี่คลายวิกฤติการณ์ที่ยืดเยื้อในประเทศ ให้เป็นไปอย่างสันติวิธีตามจิตวิญญาณ และแนวทางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยการปรึกษาหารือและการเจรจา


การดำเนินงานของบรูไน ซึ่งทำหน้าที่ประธานอาเซียนประจำปีนี้ ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานหลายเรื่อง ที่อาเซียนยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลานาน จึงถือเป็นการละเมิดกฎบัตรอาเซียน ที่เมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิก ด้วยเหตุนี้ เมียนมาจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะยอมรับผลการหารือของการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค.นี้ และมติใดก็ตามของที่ประชุม ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการของกฎบัตรอาเซียน


ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของบรูไนยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการต่อท่าทีล่าสุดของเมียนมา แต่ผลการหารือฉุกเฉินระหว่าง 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือ ได้มติร่วมกัน ในการไม่เชิญ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาหารทหารสูงสุด และนายกรัฐมนตรีของเมียนมา ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ที่จะจัดผ่านระบบทางไกล โดยให้เหตุผลด้วยว่า “ผิดหวัง” กับการที่รัฐบาลทหารเมียนมาแทบไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่เห็นชอบร่วมกัน เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา


แม้บรูไนยืนยันการเชิญ “ผู้แทนที่ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมือง” ให้เข้าร่วมในฐานะตัวแทนของเมียนมา แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นใคร และรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีชัดเจนเช่นกัน ว่าจะส่ง “ผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” เข้าร่วมด้วยหรือไม่


ในอีกด้านหนึ่ง นางคริสติน ชราเนอร์ บัวร์เกอเนอร์ ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า สถานการณ์ภายในเมียนมากำลัง “ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ” และมีความเสี่ยงสูงที่เมียนมา “จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว” เธอขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ปีนี้ คืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด อนึ่ง จนถึงขณะนี้ รัฐบาลทหารเมียนมายังคงไม่อนุญาตให้บัวร์เกอเนอร์เข้าประเทศ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES