นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัว เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ไปยังสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป

ทั้งนี้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ภาพรวมเศรษฐกิจมีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินอื่น ๆ ในอาเซียน การเกิดอุทกภัยในไทยและเวียดนามที่ส่งผลต่อศักยภาพการส่งออกและการจัดเตรียมสต๊อกสินค้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลให้การส่งออกและความต้องการกระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับลดลง รวมถึงต้นทุนกระดาษบรรจุภัณฑ์จากราคากระดาษรีไซเคิลเพิ่มขึ้น SCGP ได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้วยการปรับพอร์ตสินค้าเพิ่มสัดส่วนกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค นำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร รวมถึงปรับกลยุทธ์การส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ของอินโดนีเซียไปยังเวียดนามในช่วงที่ตลาดจีนยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และบริหารจัดการต้นทุนพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในกระบวนการผลิตและขยายไปยังโรงงานอื่น ๆ ในอาเซียน รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก

ทั้งนี้ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 101,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของภาคการส่งออก และการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าคงทน มี EBITDA เท่ากับ 13,282 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 3,756 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 มีรายได้จากการขาย 33,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการขายเยื่อเคมีละลายได้ (Dissolving Pulp) ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากปริมาณการส่งออกของกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง EBITDA เท่ากับ 3,496 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 25 จากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับกำไรสำหรับงวด 578 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล และความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจึงส่งผลต่อสินค้าส่งออก เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเยื่อเคมีละลายได้ (Dissolving Pulp) 

นายวิชาญ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคจะเพิ่มการสต๊อกสินค้าเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ภาคการบริการและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และความต้องการสินค้าคงทนจะเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมรับเทศกาล

ขณะที่เศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนราคากระดาษรีไซเคิลมีแนวโน้มลดลงจากราคาที่ปรับย่อลงในช่วงไตรมาสก่อน SCGP จึงยังคงมุ่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโซลูชันที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้ร่วมมือกับ Once Medical Company Limited พัฒนาโซลูชันเข็มฉีดยา และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตของ VEM Thailand และขยายเครือข่ายลูกค้าให้แข็งแกร่งและครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งบริหารต้นทุนและเพิ่มความสามารถทำกำไรด้วยการปรับพอร์ตเพิ่มยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพิ่มสัดส่วนการส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์ไปประเทศที่มีความต้องการ เพิ่มการใช้กระดาษรีไซเคิลภายในประเทศและขยายเครือข่ายการจัดหากระดาษรีไซเคิลเพิ่มขึ้น รวมถึงมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง