จากกรณี กลุ่มพนักงานบริษัทเกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาด และโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จำนวน 24 บริษัทรวมหลายหมื่นคนกำลังเดือดร้อนแสนสาหัส เนื่องจากบริษัทรับเหมาต่างชาติรายใหญ่ หรือ UJV ค้างชำระค่างวดนาน 7-8 เดือนกว่า จำนวนหลายพันล้านบาท ภายหลังได้มีการเข้าร้องทุกข์ยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ช่วยเหลือนัดหมายเจรจากับฝ่ายบริษัทต่างชาติ ตามที่ปรากฏเหตุการณ์ไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ห้องประชุม Ballroom โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สวีท ศรีราชา แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผวจ.ชลบุรี ได้เรียกประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มบริษัทฯ ผู้รับเหมาช่วง 24 บริษัทที่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญา โดยมี นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด, อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและบังคับคดีจังหวัดชลบุรี, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี, ตรวจคนเข้าเมือง, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชลบุรี, จัดหางานจังหวัดชลบุรี, พาณิชย์จังหวัด, พลังงานจังหวัด, แรงงานจังหวัดชลบุรี และนายอำเภอศรีราชา, ตัวแทนจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และตัวแทนกลุ่มผู้รับเหมาช่วงไทย เข้าร่วม

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลา กลุ่มบริษัทต่างชาติ UJV คู่กรณีไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย โดยทำหนังสือชี้แจงเหตุผลต่อศูนย์ดำรงธรรมชลบุรีว่า กิจการร่วมค้าของ UJV นั้น ได้มีการทำสัญญากับผู้รับเหมาช่วงแต่ละรายแยกต่างหากจากกัน ซึ่งข้อกำหนดตลอดจนเงื่อนไขและลักษณะของงานตามสัญญารวมทั้งปัญหาและข้อขัดข้อง การตรวจรับงานจากผู้รับเหมาช่วงแต่ละราย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน จึงทำให้การพิจารณาจัดการปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้รับเหมาช่วงจะต้องพิจารณาและแก้ไขปัญหาเป็นราย ๆ ไป ไม่อาจดำเนินการรวมกันหรือแก้ปัญหาทั้งหมดได้ หรือเจรจากับผู้รับเหมาช่วงทุกรายพร้อมกันไปในคราวเดียวได้

ทั้งนี้ UJV ยังอ้างด้วยว่า ทางกลุ่มบริษัทฯ มีการใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยินดีที่จะติดต่อและทำความเข้าใจกับผู้รับเหมาช่วงแต่ละรายโดยตรง เพื่อจัดการปัญหาตามข้อเรียกร้องตามข้อกำหนดในสัญญาว่าว่าจ้างผู้รับเหมาช่วง ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว จึงไม่อาจเข้าร่วมการประชุมในวันที่ 28 ต.ค. 67 ได้ แต่มีความยินดีที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงและหรือจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แก่จังหวัดชลบุรีตามที่ต้องการต่อไป

ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายธวัชชัย กล่าวว่า จุดประสงค์ของการเรียกประชุมทุกหน่วยงานในวันนี้ ก็เพื่อพิจารณาถึงแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับ UJV ที่ไม่จ่ายค่าตอบแทนให้กับแรงงานกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งทาง UJV ทำสัญญาคู่กับไทยออยล์ และทำสัญญาต่ออีก 40-50 บริษัท ซึ่ง ไทยออยล์ จ่ายเงินไปแล้ว 5 พันล้านกว่าบาท แต่ทาง UJV ไม่ยอมไปจ่ายเงินให้บริษัทรับช่วงต่อ

“วันนี้ได้ให้ทีมกฎหมายของ ไทยออยล์ นำสัญญามาดูซึ่งสัญญาเป็นสัญญาต่างประเทศที่ต้องไปอ้างอิงกับกฎหมายประเทศอังกฤษ การขึ้นศาลจึงยุ่งยาก จึงต้องรีบเพราะแรงงานจะไม่มีข้าวกินแล้ว และหลังจากนี้จะเรียกประชุมแต่ละบริษัทผู้รับเหมาช่วงกับ UJV เพื่อสรุปความเสียหายของแต่ละบริษัท ซึ่งหากเคลียร์กันได้ก็เป็นการดี แต่ถ้าเคลียร์ไม่ได้ก็คงต้องใช้กฎหมายไทยเข้าดำเนินการ โดยอาจใช้ข้อหา “ฉ้อโกง” เพราะทางไทยออยล์ จ่ายเงินหมดแล้วซึ่งก็ต้องคุยเป็นเคส ๆ ไปและผมจะเป็นประธานการประชุมเอง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้ทันท่วงที” ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าว

ด้าน นายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ กรรมการบริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด หรือ SCC เผยว่า ผลการประชุมในวันนี้เป็นที่น่าพอใจและขอขอบคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ที่เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดกับบริษัทรับเหมาช่วงไทยและกลุ่มแรงงานกว่าหมื่นชีวิตที่ในวันนี้อาจตกงาน เพราะหลายบริษัทใหญ่เริ่มเกิดประสบปัญหาสายป่านขาด บางบริษัทต้องปลดพนักงาน และหากสุดท้าย UJV ยังยื้อการชำระค่างวดคงค้าง ก็คาดว่าไม่ถึงสิ้นปีนี้อาจจะมีการเลิกจ้างพนักงานและแรงงานเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่ตามมาคือปัญหาผลกระทบทางสังคมอย่างรุนแรง

“…เราเองก็ยังไม่เชื่อใจอีกฝ่ายว่าจะทำตามที่พูดในหนังสือที่เสนอต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและไม่เชื่อว่า เขาจะชำระเงินค่างวดงาน 7-8 เดือน ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลพร้อมแรงงานกว่า 3,000 คนในสัปดาหน้า เพี่อให้รัฐบาลได้รู้ว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นกับแรงงานไทยใน จ.ชลบุรี และจะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยเหลือพวกเราต่อไป…” นายฉัตรมงคล กล่าว

เช่นเดียวกับตัวแทนจาก บริษัท stecon ที่เผยว่าตามที่ไทยออยล์ ได้ออกแถลงการณ์ ว่าไม่มีเงินติดค้างกับ UJV แล้ว ทำให้ผู้รับเหมาช่วงต้องการคำตอบว่า สุดท้ายแล้วเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ที่ใด และเหตุใดทำไมบริษัทต่างชาติ จึงไม่จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาช่วงนาน 7-8 เดือน

“…สายป่านพวกเราแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน ทำให้ขณะนี้เริ่มเกิดผลกระทบกับหลายบริษัท ทั้งการไม่สามารถจ่ายเงินให้กับพนักงานได้ บางบริษัทเลิกจ้างและไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานและแรงงาน และหากในเดือน พ.ย.นี้ กลุ่มผู้รับเหมาช่วงไม่ได้รับเงินก็จำเป็นที่จะต้องลอยแพพนักงานหลายพันคน จึงขอเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินภายในเดือน พ.ย.นี้…” ตัวแทนจาก บริษัท stecon กล่าว

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาตามระเบียบและกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งการหาแนวทางสร้างข้อตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยการชำระค่าจ้างตามสัญญา ระหว่างกลุ่มบริษัทฯ จำนวน 24 บริษัท กับกลุ่มบริษัทต่างชาติอีกด้วย