เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคให้ความเห็นต่อปัญหาการนิรโทษกรรมซึ่งสภาผู้แทนราษฎรในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 ต.ค.มีมติ “ไม่เห็นชอบ” กับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ได้เสนอทางเลือกการนิรโทษกรรมความผิดตาม ม.112 ไว้ 3 ทางเลือก นั้น

ตนเห็นว่า หากทุกพรรคการเมืองได้ย้อนกลับไปดูมติการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ส.ค. มติดังกล่าวก็น่าจะเป็นมติ “ปิดปาก” ตนเองไปโดยปริยาย เพราะสภาเคยมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ดังนี้

1. นิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มีระยะเวลาตั้งแต่พุทธศักราช 2548 จนถึงปัจจุบัน 2. นิรโทษกรรมคดีการเมือง และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริตทั้งนี้ กระบวนการในการพิจารณาคดีทุจริตต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
    
ดังนั้น ถ้าหวังจะให้การนิรโทษกรรมคดีการเมืองเดินหน้าไปได้ ขอเสนอแนะให้นำรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาตื ที่สภา ให้ความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน เมื่อ 19 ส.ค.63  มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยประชุมต่อไปในช่วงต้นเดือน ธ.ค.67
     
อย่างไรก็ตาม สังคมไม่ควรมองข้ามปัญหาเยาวชนที่ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งทางออกในกรณีนี้ควรยึดหลักการ “การให้อภัย” เช่นกัน เพียงแต่ผู้กระทำควรสำนึกในการกระทำของตน แล้วทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เหตุผลก็ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ดังกล่าว แสดงฐานะของพระมหากษัตริย์ว่า 1. ทรงอยู่เหนือการเมือง 2. ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า คดีความผิดตามมาตรา 112 เป็นคดีความผิดอันยอมความมิได้ ต่างจากคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไป ที่สามารถยอมความกันได้
    
ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรจะไปนิรโทษกรรมผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แทนพระองค์ท่าน จะสมควรหรือไม่ ตนเห็นว่าแนวทางที่สมควร คือ ผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หากสำนึกในการกระทำ ก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ หากเห็นว่า ตนเองมิได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์ ก็มีช่องทางในการต่อสู้ตามกระบวนยุติธรรม หรือกรณีที่เห็นว่าถูกกลั่นแกล้งในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็มีช่องทางที่พรรคการเมืองจะดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์กล่าวโทษคดีความผิดตามมาตรา 112 โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 112 แต่อย่างใด

นายชวลิต กล่าวด้วยว่า หากผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ได้ฉันทามติจากประชาชน ได้ร่วมมือกันใน 3 ส่วนสำคัญไปพร้อม ๆ กัน คือ ปกป้องรักษาพระเกียรติยศองค์พระประมุขของชาติ และ “อภัย”ผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองที่มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดเป็นคดีการเมือง และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้

ซึ่งสังคมไม่อาจมองข้ามปัญหาของเยาวชนที่ต้องหาคดีอาญาตามมาตรา 112 โดยตนเห็นว่าควรมีคณะกรรมาธิการสามัญคณะใดคณะหนึ่งที่เกี่ยวข้องได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อมูลของคดีเป็นรายบุคคล แล้วร่วมกันหาทางออกให้กับเยาวชนอันจะนำไปสู่หลักการการได้รับ “การอภัย” ในที่สุด