สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ว่า “หลุมก๊าซดาร์วาซา” ซึ่งมีความลึก 20 เมตรตั้งอยู่ที่ทะเลทรายคาราคุม ทางตอนเหนือของกรุงอาชกาบัต ที่ลุกโชนมาตั้งแต่ปี 2514 จากก๊าซมีเทนซึ่งแทรกซึมขึ้นมาจากพื้นดิน หลังเกิดอุบัติเหตุที่แท่นขุดเจาะของสหภาพโซเวียต จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง

รัฐบาลเติร์กเมนิสถานแสดงความวิตกกังวล เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว จากก๊าซที่รั่วไหลจำนวนมาก โดยจะดำเนินการกักเก็บก๊าซในหลุมดาร์วาซา เพื่อลดการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศ

ทั้งนี้ ทางการเติร์กเมนิสถานประกาศแผนปิดบ่อก๊าซดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุด เมื่อปี 2565 ซึ่งประธานาธิบดีกูร์บันกูลี เบอร์ดีมูคาเมดอฟ ผู้นำในเวลานั้น เตือนว่า หลุมก๊าซดาร์วาซาส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

ในอดีต เติร์กเมนิสถานมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ต้องประสบกับปัญหาการรั่วไหลของก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 30 เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่เก่าและขาดการบำรุงรักษา.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES