เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่กรมป่าไม้ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ จัดแถลงข่าวผลการตรวจสอบกรณีกรมป่าไม้อนุญาตให้มูลนิธิวิมุตตยาลัย และศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงราย

นายบรรณรักษ์ กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้อนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ ดอยปุย 3 แปลง ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิวิมุตตยาลัย ขอใช้พื้นที่ 1 แปลง เนื้อที่ 113 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา (ตร.ว.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2 แปลง เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา กับ 11 ไร่ 3 งาน 01 ตารางวา รวม 140 ไร่ 0 งาน 80 ตารางวา เมื่อตรวจสอบร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งเจ้าของที่ถือครองตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) บริเวณโดยรอบ ไม่พบมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มจากการขออนุญาต เพราะหากมีการบุกรุกเพิ่มเติมจริง ผู้ถือครองที่ดิน คทช.จะต้องร้องเรียนแล้ว

เมื่อถามว่ามีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองพื้นที่ คทช.บริเวณโดยรอบหรือไม่ นายบรรณรักษ์ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีหน้าที่จัดสรรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้ทางจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งชาวบ้านที่จะถือครองต้องมีคุณสมบัติตามที่ คทช. ระบุไว้ หากพบมีการเปลี่ยนมือจะถือว่าไม่ถูกต้องตามคุณสมบัติ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ก็อาจถูกตัดสิทธิได้

เมื่อถามว่าการอนุญาตให้วัดใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีระยะเวลาเท่าไร นายบรรณรักษ์ ตอบว่า ได้อนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวน ตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งได้อนุญาตศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันใช้พื้นที่ 30 ปี โดยต้องปฏิบัติตาม 29 เงื่อนไขที่ระบุไว้ นอกจากนี้ทางวัดต้องปลูกป่าทดแทนตามจำนวนไร่ที่ขอใช้พื้นที่ หรืออาจจ่ายค่าบำรุงป่าไม้ไร่ละ 12,090 บาท โดยทางวัดอยู่ระหว่างการปลูกป่าทดแทน แต่อย่างไรก็ตามในกรณีวัดขอใช้พื้นที่จะอนุญาตใช้พื้นที่ไม่เกิน 15 ไร่ และห้ามมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม หากไม่ปฏิบัติตามจำเป็นต้องยกเลิกการอนุญาตไม่ให้ใช้พื้นที่ต่อ และถ้าไม่ออกจากพื้นที่ถือว่ามีความผิดฐานบุกรุกป่า

เมื่อถามว่า กรณีที่มูลนิธิวิมุตตยาลัย ขออนุญาตใช้พื้นที่เกินกว่า 15 ไร่ ซึ่งขอใช้พื้นที่ 113 ไร่ ถือว่าผิดเงื่อนไขหรือไม่ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นมูลนิธิ ซึ่งการให้ใช้พื้นที่ไม่ได้จำกัดพื้นที่แต่อย่างไร แต่ต้องได้การยอมรับจากภาคประชาคมทั้งหมด โดยในส่วนของสำนักงานพระพุทธฯ ขออนุญาต คือ 14 ไร่ และ 11 ไร่ เท่านั้น ไม่เกิน 15 ไร่

เมื่อถามว่าก่อนมีการอนุญาตให้ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นอย่างไร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า จากการดูภาพถ่ายดาวเทียม พบว่ามีประชาชนเคยใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาก่อน เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จากนั้นทางศูนย์วิปัสสนาฯ มาใช้พื้นที่ต่อ ซึ่งกรมป่าไม้มีโครงการพุทธอุทยาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้วัด สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์ ช่วยงานด้านป่าไม้ เพื่อให้ศาสนาเข้ามามีบทบาทการเป็นผู้นำ หรือเครือข่ายในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดังนั้นจึงถือว่าวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้ดีขึ้นด้วย

นายบรรณรักษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการอนุญาตให้วัดใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติ ครม. ในการผ่อนผันให้วัดและสำนักสงฆ์ ใช้พื้นที่ป่าสงวนตาม มติ ครม.วันที่ 23 มิ.ย. 2563 และ มติ ครม.วันที่ 11 พ.ค. 2564 นั้น โดยให้ทำเรื่องขออนุญาตมายังกรมป่าไม้ ซึ่งต้องเป็นวัดที่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ามาก่อนมีมติดังกล่าว หากมาสร้างวัดใหม่ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข  ซึ่งตอนนี้มีการยื่นขออนุญาตแล้วกว่า 9,000 คำขอ อนุญาตแล้วประมาณ 1,000 กว่าคำขอ โดยใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ แล้วประมาณ 1.5 หมื่นไร่ อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้ได้ขีดเส้นให้ทางวัด หรือสำนักสงฆ์ ยื่นทำเรื่องขออนุญาตให้พื้นที่ป่าสงวนฯ ภายในสิ้นปี 2567 นี้เท่านั้น หากเกินระยะเวลานี้ทางกรมป่าไม้จะไม่อนุญาตเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น.