เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 25 ต.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา จำนวน 2 ญัตติ 1.ญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความของคดีตากใบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอโดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ 2.ญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีคดีสลายการชุมนุมเหตุการณ์ตากใบขาดอายุความ (วันที่ 25 ตุลาคม 2567) เสนอโดยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง  รมว.ยุติธรรม ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ความยุติธรรมแม้จะเป็นนามธรรมสูง แต่หากสังคมใดขาดความยุติธรรม สังคมนั้นจะมีความแตกแยก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมที่จะอยู่ไม่ได้เท่านั้น แต่ผู้มีอำนาจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพลวัตที่ทุกภาคส่วนจะหาทางออก ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความรู้สึกของคนจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ที่สำคัญเป็นความรู้สึกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขอโทษประชาชน และในฐานะที่เป็นรัฐบาล เราไม่เคยพูดว่าจะมีการช่วยเหลือบุคคลที่ถูกออกหมายจับเลย เรามีแต่การพูดว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงติดตามผู้ต้องหาให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ทันเวลาของอายุความที่มีหมายจับ ซึ่งถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม เรื่องคดีไม่ควรมีอายุความ และเราควรเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อเยียวยาจิตใจของคนที่โหยหาความยุติธรรม

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า เราแทบไม่ได้รับคำตอบ และไม่ได้เห็นถึงความจริงใจอะไรเลยของรัฐบาลชุดนี้ในการที่จะแก้ปัญหาดับไฟใต้อย่างจริงจัง ในการที่จะทวงความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบแม้แต่น้อย ไม่ใช่คำถามที่จะได้รับคำตอบเท่านั้น แต่รวมไปถึงความชัดเจน ความจริงใจ ที่ประชาชนซึ่งอยู่นอกสภาจะได้รับด้วย และรวมไปถึงโอกาสของรัฐบาล ที่จะได้พิสูจน์ตัวเองว่า มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาอย่างที่พูดเอาไว้ตลอดเวลา

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่ไม่ได้หมายความว่า คำพูดคือสิ่งที่ไม่มีความสำคัญเลย ถ้าเราดูในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าการพูดเรื่องของคดีตากใบ จากรัฐบาลนี้ในหลายโอกาสนั้น อย่างคำพูดของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่บอกว่า “ตากใบไม่สำคัญ น้ำท่วมสำคัญกว่า” ตนเข้าใจดีว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ แต่เราไม่ควรจะต้องเลือกว่า เหตุการณ์ใดสำคัญกว่าเหตุการณ์ใด เพราะสำหรับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เขากำลังเจอล้วนสำคัญ รัฐบาลมีการส่งสัญญาณถึงความจริงใจบ้างหรือไม่ มากไปกว่านั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ก็พูดเป็นนัยว่า ทำไมมาฟ้องเอาตอนนี้ คดีใกล้จะหมดอายุความ ทำตัวเป็นเหยื่อ และคนที่สูญเสีย กลายเป็นแพะ ถูกตราหน้าจากสังคม จนเป็นคนที่ถูกโยนบาปว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายทางการเมืองบางอย่างที่จะทำลายรัฐบาล นี่หรือคือความจริงใจที่รัฐบาลกำลังจะมอบให้กับกรณีตากใบ

“เหตุการณ์ที่ขึ้นเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น แม้จะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตีกอล์ฟอยู่ ผมเข้าใจว่าคนธรรมดาก็ต้องมีการพักผ่อนกันบ้าง แต่ตลอดเหตุการณ์ตั้งแต่การชุมนุมไปจนถึงการที่รถขนคนเที่ยวสุดท้าย ลากยาวตั้งแต่ตอนเช้าถึงเวลาตีหนึ่งนั้น ท่านไม่รู้สึกอะไรเลยหรือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้มันผิด เป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการและท่านในฐานะนายกฯ ในเวลานั้นไม่รู้สึกว่าจะต้องทำเลยหรือแม้เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว ตั้งแต่นายกฯ ผู้พ่อ มาสู่นายกฯ ผู้ลูก เราจะส่งสัญญาณถึงการละเลยความเจ็บปวดของประชาชนเหมือนเดิมอีกหรือ” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องตอบ 3 คำถามที่ตนขอฝากไว้ให้ คือ 1.วันนี้ต้องตอบให้ชัดว่า เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น ตอนที่อดีตนายกฯ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ทำไมถึงไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของท่าน และในระยะเวลายาวนาน ทำไมถึงปล่อยให้เกิดขึ้นได้ 2.หลังจากนี้ ดคีคงหมดอายุความ ปาฏิหาริย์ที่เราคาดหวังว่า จะมีการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคงไม่เกิด แต่คำถามสำคัญคือ เราจะมีกระบวนการ หรือนโยบายอย่างไร ที่จะมั่นใจได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของเรา จะไม่เป็นแบบนี้อีกแล้ว เราจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไร ให้ประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้ รู้สึกได้ว่าเขาสามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้  และ 3.เราต้องยอมรับความจริงว่า แนวทางในการบริหารเพื่อดับไฟใต้ของรัฐบาลนี้ กับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ดังนั้น ช่วยสร้างความแตกต่างได้หรือไม่ ช่วยนำเสนอนโยบายในการดับไฟใต้ ที่จะนำไปสู่การสร้างความแตกต่างให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความหวังอีกครั้ง เขาจะได้รู้สึกถึงความจริงใจของรัฐบาล

“ตราบใดที่เราไม่สามารถสร้างความหวัง และความจริงใจให้ประชาชนสามารถรู้สึกได้ ไฟใต้ก็มีแต่โหมกระพือ และสิ่งที่ท่านได้พูดในเวลาที่ผ่านมา มันได้จุดไฟนั้นอีกครั้ง ขอให้ใช้โอกาสนี้แก้ไขในสิ่งที่ผิด อย่าปล่อยให้ไฟใต้ต้องเป็นแบบนี้อีกต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงนายรังสิมันต์ว่า ที่บอกว่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ จากเหตุการณ์ตากใบตั้งแต่การชุมนุมช่วงเช้าจนมีการขนย้ายคนเที่ยวสุดท้ายลากยาวจนถึงดึก แต่หากไปดูย้อนหลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นนายกฯ ขณะนั้น กล่าวขอโทษต่อประชาชนไปแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 พูดขอโทษต่อเหตุการณ์ที่สั่งการให้ใช้กำลังจัดการกับฝูงชนที่อาจรุนแรงเกินไป และครั้งที่ 2 ขอโทษต่อเหตุการณ์การขนคนที่ท่านไม่ทราบเลยว่าเป็นความผิดพลาดร้ายแรง ส่วนที่นายรังสิมันต์ บอกว่า รัฐบาลจะปล่อยให้เป็นแบบนี้หรือไม่ น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอโทษต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ถือเป็นเรื่องดีต่อการเริ่มต้นแก้ปัญหา ลดความรู้สึกผิดหวัง ไม่สบายใจของประชาชนลงไปได้บ้าง

“ถามว่าทำไมเพิ่งมาเป็นเรื่องกันตอนนี้ เพราะมีการรื้อคดีขึ้นมาเมื่อปี 66 ตำรวจภาค 9 ทำคดี เสนอฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คน อัยการสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา และญาติผู้เสียชีวิตฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐอีก 7 คน เป็นจำเลย ศาลฯ รับฟ้องเมื่อ 23 ส.ค. เมื่อเกิดการฟ้องร้อง ศาลรับฟ้องอย่างนี้ ก็เป็นความหวังของประชาชาอีกครั้งว่าจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นบาดแผลระทมขมขื่นมานาน หรือบางคนโกรธแค้นมานาน แต่ปรากฏว่าคดีจะหมดอายุความในวันนี้ โดยจะไม่มีใครขึ้นศาลฯ แม้แต่คนเดียว มันเป็นความผิดหวังร้ายแรง อาจนำไปสู่ความรู้สึกโกรธแค้นเคือง เพราะไม่สามารถพึ่งกระบวนการยุติธรรมได้ ความเชื่อถือก็หมดไป จึงเป็นเรื่องใหญ่” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ ลุกขึ้นกล่าวว่า ในเหตุการณ์ตากใบ มีคนอีกจำนวนมากสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลาจากการชุมนุมจนถึงช่วงที่มีการขนคนที่กินนานขนาดนั้น มันเป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่รู้ ถ้าไม่รู้จริงๆ มันต้องเป็นความผิดพลาดของระบบบางอย่างที่เกิดขึ้น เราควรคิดกันอย่างจริงจังว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อย่างไร ไม่ว่ารัฐบาล หรือฝ่ายค้านเราไม่อยากสร้างความรู้สึกให้กับประชาชนเขารู้สึกว่าไม่ใช่ไม่รู้ แต่ไม่สนใจ มันเป็นความรู้สึกที่ติดลบ

จากนั้นในเวลา 13.20 น. ภายหลังสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างครบถ้วน และผู้เสนอญัตติได้กล่าวสรุปแล้วนั้น ที่ประชุมจึงมีมติส่งญัตติดังกล่าวทั้ง 2 ญัตติ ไปยัง 1.คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน และ 2.ส่งให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป.