วันที่ 25 ตุลาคม ที่โรงเรียนอุดรวิทยา อ.เมือง จ.อุดรธานี นางเหมยโหยว หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมชาวจีนโพ้นทะเลและเรื่องกงสุลของสถานกงสุลใหญ่จีน ณ จ.ขอนแก่น, นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี, ดร.แสงชัย โสตถีวรกุล นายกสมาคมโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งประเทศไทย, นางรัชนี ศรีศิลป นายกกิตติมศักดิ์ถาวรสมาคมโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งประเทศไทย, นางอนงค์ คำแสงทอง รองศึกษาธิการ จ.อุดรธานี, นางสุขนิษฐ์ ปิยะวิทยานนท์ รองนายกสมาคมครูจีน (ประเทศไทย), นายวรากร โรจน์จรัสไพศาล ประธานชมรมโรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, พ.ต.อ.อารี สินธุรา รองนายกนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี, นายปรีชา ชัยรัตน์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี, นายสุรศักดิ์ สุระวรรณวิจิตร นายกสมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอุดรวิทยา ร่วมกันเปิดอาคาร 5 TCE 5 ชั้นของโรงเรียนอุดรวิทยา

นายกสมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี กล่าวว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ประมาณปี พ.ศ. 2489 เหล่าพ่อค้าชาวจีนใน จ.อุดรธานี มีความปรารถนาที่จะให้มีการเรียนการสอนภาษาจีน เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนอันเป็นพื้นฐานในการติดต่อค้าขาย ดังนั้นพ่อค้าชาวจีนจึงแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนของตนเองขึ้น โดยกลุ่มที่ 1 โรงเรียนตั้งอยู่บริเวณหน้าเรือนจำ เรียกกันในสมัยนั้นว่า “โรงเรียนคอกม้า” กลุ่มที่ 2 โรงเรียนตั้งอยู่ถนนประจักษ์ศิลปาคม เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราษฎร์ณรงค์ศิลป์ บริเวณร้านสุริยาเฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบัน และกลุ่มที่ 3 โรงเรียนตั้งอยู่ถนนนเรศวร บริเวณร้านค้าตรงข้ามสถานีตำรวจในปัจจุบัน

ต่อมาทั้ง 3 กลุ่ม มีแนวคิดร่วมกันว่าควรจะรวมกลุ่มตั้งเป็นโรงเรียนเดียวกัน จึงได้จัดหาสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2490 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสมาคมพาณิชย์จีน จ.อุดรธานี สมัยนั้น ได้ประสานติดต่อกับทางราชการ เพื่อขอเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทย ภาษาจีน และได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ จึงย้ายนักเรียนทั้ง 3 กลุ่ม มาเรียนรวมกันภายใต้ชื่อโรงเรียนจงเจ็น หรือตงเจี่ย ซึ่งแปลว่า เที่ยงตรง เปิดสอนวิชาสามัญ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ระดับ ป.1-ป.4 ปี พ.ศ. 2497 คณะกรรมการบริหารมีความปรารถนาที่จะสร้างโรงเรียนรองรับนักเรียนที่จบชั้น ป.4 จึงได้ดำเนินการขออนุญาตก่อตั้งโรงเรียนขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง มีชื่อว่าโรงเรียนพาณิชย์นุเคราะห์ ปี พ.ศ. 2503 โรงเรียนพาณิชย์นุเคราะห์ ได้เลิกรวมกิจการพร้อมกับโรงเรียนจงเจ็น โดยเหตุผลบางประการ และในปีเดียวกันคณะกรรมการสมาคมพาณิชย์จีน มีความประสงค์ขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้อาคารเรียนที่เดิม เปิดสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มีชื่อว่าโรงเรียนอุดรวิทยา ระยะเวลาในการดำเนินการเปิดสอนโรงเรียนจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลายาวนานร่วม 78 ปี

ในปี พ.ศ. 2564 คณะกรรมการสมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี ได้มีมติให้จัดซื้ออาคารพาณิชย์ด้านถนนอุดรดุษฎี โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีน ตระกูลแซ่ ในจังหวัดอุดรธานี และผู้มีจิตศรัทธา ได้ทำการปรับปรุงต่อเติมอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ใช้เป็นอาคารเรียนและห้องเรียน 3 ภาษา TCE จำนวน 12 ห้องเรียน รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 2,153 คน มีครู-บุคลากร 176 คน จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดการเรียนการสอน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการปกติ 2. โครงการพิเศษ Mini TCE และ 3.โครงการพิเศษ 3 ภาษา TCE เต็มรูปแบบ

สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี ซึ่งกำกับดูแลและให้การสนับสนุนทางด้านการจัดการศึกษาโรงเรียนอุดรวิทยาแล้ว ยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาให้แก่ลูกหลานชาว จ.อุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง ให้เป็นโรงเรียนที่เพียบพร้อมทางด้านการบริหาร การจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาไทย ยุคศตวรรษที่ 21 ตลอดไป