เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความว่า คดีตากใบที่คนเห็นกันอยู่ว่ามีผู้เสียชีวิต แต่สุดท้าย หากไม่สามารถนำตัวคนที่ถูกกล่าวหาหรือคนที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แม้แต่คนเดียว จะทำให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ที่สำคัญทำให้เห็นเลยว่า เวลาประชาชนทำผิดจะถูกจับกุมถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนต้องรับผิด ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะตำรวจกับอัยการ คดีตากใบไม่ถูกนำขึ้นศาลตลอดสิบห้าปี หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนการตาย เมื่อปี 2552 ที่ทำให้เห็นเลยว่า นโยบายรัฐบาลที่บอกว่าจะทำให้คนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย มันไม่จริง เพราะมันทำให้เห็นเลยว่าหากคนทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คนเหล่านี้ไม่เคยถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย ที่จะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้ใจรัฐ และจะส่งผลให้การที่ภาครัฐจะไปพูดคุยเพื่อสันติภาพ สันติสุข จะพูดคุยได้อย่างไร ในเมื่อรัฐยังไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขาเลย

“คดีตากใบ ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตอกย้ำความรู้สึกการไม่ได้รับความเป็นธรรมของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลังจากนี้เราคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าจะมีคนที่อ้างว่า รัฐไม่จริงใจ รัฐไม่ให้ความเป็นธรรม ไปเข้าร่วมขบวนการในการที่จะก่อเหตุรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ ตรงนี้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้เลย รัฐอาจจะอ้างว่า เกิดเหตุรุนแรงที่ไหนก็จับไป แต่ส่วนตัวก็อยากจะบอกว่า ไม่ว่าจะจับอย่างไรก็จับไม่หมด ถ้าหากว่ารัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนได้ เหตุการณ์แบบนี้ก็จะเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก และความเป็นรัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ รัฐบาลวันนี้ก็คือ ไทยรักไทย เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว จะปฏิเสธความรับผิดชอบ คงไม่ได้” นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวด้วยว่า หากคดีตากใบหมดอายุความ อีกทางหนึ่งที่ญาติผู้เสียชีวิตทำได้ก็คือ ไปฟ้องศาลระหว่างประเทศ เพราะอย่างประเทศในสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนี หรือสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ที่จะมีศาลระหว่างประเทศ เช่น สมมุติว่าญาติไปฟ้องว่ามีจำเลยคดีตากใบเกี่ยวข้องกับการทำให้มีคนเสียชีวิต 78 คน แล้วหากศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล บุคคลดังกล่าว ก็จะเดินทางเข้าประเทศนั้นไม่ได้ เช่น หากไปฟ้องที่อังกฤษ จำเลยคดีตากใบที่อยู่ที่อังกฤษ ศาลอังกฤษสามารถจะลงโทษที่ประเทศอังกฤษได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งเข้ามาที่ประเทศไทย อันนี้เป็นอีกกลไกหนึ่ง เพราะจะไปพึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้มีการไปให้สัตยาบันกรุงโรม แต่จะมีศาลระหว่างประเทศ ที่หลายประเทศโดยเฉพาะคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปให้ความสำคัญ

เมื่อถามว่า มองว่าที่ผ่านมาภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเอาจริงเอาจังหรือไม่ในการติดตามตัวจำเลยคดีตากใบที่ถูกศาลนราธิวาสออกหมายจับทั้ง 14 คน เพราะบางคนก็เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง บางคนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นตำรวจ เพื่อนอดีตเตรียมทหารกับ นายทักษิณ ชินวัตร บางคนเป็นอดีต สส.เพื่อไทย นางอังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ได้จริงจัง เพราะคดีที่ฟ้องศาล ทางญาติผู้เสียชีวิต เป็นผู้ฟ้องคดีเอง ซึ่งความผิดตามกฎหมาย คดีที่เป็นคดีอาญาแผ่นดิน อัยการต้องเป็นผู้ฟ้องคดี และยิ่งเป็นคดีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อัยการต้องเป็นผู้ฟ้อง

นางอังคณา กล่าวต่อว่า อย่างก่อนหน้านี้ ก็บอกว่าหาสำนวนไม่เจอ (ตำรวจ) ก็ใช้เวลากว่าจะหาเจอ ญาติก็เลยยื่นฟ้องต่อศาลไปก่อน ซึ่งคดีที่ผู้ฟ้องหากไม่ใช่อัยการยื่นฟ้อง จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อน ที่ก็ใช้เวลา กว่าที่ศาลจะรับฟ้องคดี พอศาลรับฟ้องแล้ว พอจำเลยไม่มา ศาลก็ออกหมายจับ ซึ่งหลังจากคดีที่ประชาชนฟ้องแล้ว ทางอัยการถึงได้ฟ้องด้วย ซึ่งอัยการมาช้ามาก อันนี้พูดตรงๆ และหลังจากผ่านไปสิบห้าปี หลังศาลมีการไต่สวนการตาย เมื่อปี 2552 จนมาถึงปี 2567 เวลาผ่านไปสิบห้าปี สำนักงานอัยการสูงสุด ทำอะไร เพราะเรื่องนี้ ญาติผู้เสียชีวิตมีการไปร้องตลอด มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ ทำบุญกันทุกปี แต่ว่ากระบวนการยุติธรรม กลับนิ่งเฉย มองไม่เห็นความทุกข์ยากหรือความยุติธรรมที่เขาควรจะได้รับ

“อยากชวนนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปคุยกับแม่ๆ (ผู้เสียชีวิต) และคนที่รอดชีวิต โดยไม่ต้องมีทหาร ตำรวจตามไป เป็นการไปคุยประสาชาวบ้าน นายกฯ จะได้รู้ว่า คนเหล่านั้นเขาทุกข์ยากอย่างไร เพราะวันนี้มีสิ่งหนึ่งที่สังคมได้เห็นก็คือมีการสร้างอคติต่อเหยื่อ เช่น นักวิชาการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่ออกมาพูดว่าการชุมนุมตากใบมีพวกบีอาร์เอ็นหนุนหลัง มีขบวนการจัดตั้ง ซึ่งสิ่งสำคัญที่รัฐต้องระลึกถึงก็คือ ในการชุมนุม จะมีผู้ก่อเหตุ จะมีการจัดตั้ง อะไรก็แล้วแต่ ทว่าสิ่งที่ประชาชนถามหาในวันนี้ ทำไมคน 78 คนถึงต้องตาย เพราะหลักการชุมนุม รัฐมีหน้าที่ทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ และรักษาชีวิตของผู้ชุมนุม คน 78 คน ต่อให้เขาจะถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนไม่ดีหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เขาจะต้องไม่ตายภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้คือหลักการสำคัญ” นางอังคณา ระบุ

นางอังคณา กล่าวว่า ทั้งนี้ ไม่ใช่พอญาติมาเรียกร้องความเป็นธรรม มาส่งเรื่องขึ้นศาล แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูง มีนักวิชาการพยายามจะบอกว่า กรณีตากใบมีบีอาร์เอ็นเกี่ยวข้อง มีคนยุยงปลุกปั่นคน 78 คนที่ถูกผลักขึ้นไปบนรถบรรทุกวันนั้น เขาขึ้นไปโดยที่ยังมีชีวิต แต่พอไปถึงค่ายอิงคยุทธฯ เขาหมดลมหายใจ ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องมีการมาตรวจพิสูจน์ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ที่พูดไม่ได้บอกว่าใครผิด แต่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะทำให้รู้ได้ว่าใครเป็นผู้สั่ง ใครทำอะไร ทำอย่างไร และทำไมถึงมีคนตายเยอะขนาดนี้ แล้วจะต้องรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ความจริง เพราะเมื่อรู้ความจริง ก็จะนำไปสู่แนวทางที่เราจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่วันนี้เรากลับพบว่า พวกญาติๆ ของผู้เสียชีวิต ถูกให้ร้ายว่าคนที่เสียชีวิตกลายเป็นคนไม่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย เพราะเขาจะเป็นคนดีหรือคนไม่ดี คุณก็ต้องเอาเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาเขาใส่ขึ้นรถบรรทุกไปแล้วสุดท้ายเขาเสียชีวิต

“ก็คิดว่านายกฯ แพทองธาร ไม่ควรจะรับฟังความเห็นของนักวิชาการ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเพียงอย่างเดียว ถึงได้เรียกร้องให้นายกฯ ลงพื้นที่ไปฟังพวกผู้หญิง พวกแม่ๆ พวกพี่น้องของผู้เสียชีวิตและคนที่เขารอดชีวิตว่าเขาทุกข์ทรมานแค่ไหน ซึ่งส่วนตัวก็ยินดีจะไปด้วย” สว.อังคณา กล่าว.