หนึ่งในกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดเป็นปัญหาได้บ่อยครั้ง นั่นคือ “กลิ่นเท้าเหม็น” พบมากในคนที่มีเหงื่อมาก สวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่ไม่ระบายอากาศเป็นเวลานานๆ ยิ่งเวลานี้อยู่ในช่วงหน้าฝนทุกวัน ยิ่งเอื้อให้เท้าเกิดการหมักหมม ส่งกลิ่นอบอวลหนักขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ควรมองข้าม

ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย บอกเล่าถึงปัญหาดังกล่าว ว่า โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชอบใส่ถุงเท้าอับนานๆ มีเหงื่อออกมาก ยิ่งหน้าฝน น้ำท่วมการเดินย่ำน้ำบ่อยๆ ก็จะทำให้ผิวหนังยุ่ยและติดเชื้อแบคทีเรียง่าย สำหรับอาการที่พบบ่อยเกิดจากการติดเชื้อนั้น ผิวหนังที่เท้าจะเป็นรูพรุนเล็กๆ บางครั้งเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ ที่ฝ่าเท้า มีน้ำเหลืองซึม และเท้ามีกลิ่นเหม็นมาก เวลาถอดถุงเท้า ยังรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้าด้วย

อีกกรณีคือกลายเป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือ “ฮ่องกงฟุต” ซึ่งเกิดจากเชื้อรา เดอมาโตฟี (Dermatophytes) ในกลุ่มเดียวกันกับโรคขี้กลาก (Tinea) ซึ่งเชื้อราจะเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ โดยอาการเมื่อผิวหนังเกิดการระคายเคือง ซึ่งสังเกตที่ผิวหนังจะแห้ง ย่น คัน มีสีแดง บางครั้งเริ่มมีตุ่มน้ำตรงซอกนิ้วเท้า เป็นสีขาว เริ่มเป็นแผล ผิวหนังจะแห้ง ตกสะเก็ด แตกเป็นร่องแผลสด บวม เจ็บและคัน บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนก็จะอักเสบบวมแดง ร้อน หรือเป็นหนอง ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรง

วิธีแก้ไข คือ ต้องหมั่นทำความสะอาด ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง ใช้แป้งโรยเพื่อไม่ให้อับชื้น ถ้าต้องย่ำน้ำ ควรทาโลชั่น วาสลีน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคือง แต่เมื่อใดที่เริ่มเป็นโรคน้ำกัดเท้า จะต้องรักษาด้วยยารักษาเชื้อราเฉพาะที่ หรืออาจต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย.