เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่รัฐสภา นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ((2) ทำโทษบุตร) และคณะ แถลงว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และจัดทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยได้รับข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในเด็กดังนี้ ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า แม่และผู้ดูแลเกือบ 2 ใน 5 เชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเด็กเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมีเด็กอายุ 1 – 14 ปี มากกว่าร้อยละ 53.8 หรือคิดเป็นเด็กจำนวน 5 ล้านกว่าคน ในประเทศไทย ได้รับการอบรมโดยวิธีการรุนแรง

นายสรรพสิทธิ์ กล่าวอีว่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปีพ.ศ. 2564-2566 ของบ้านพักเด็กและครอบครัว พบสถิติความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 1,689 ราย โดยเฉลี่ยคิดเป็น 563 รายต่อปี หรือ 1-2 รายต่อวัน สำหนับสาเหตุประเภทความรุนแรง 3 อันดับแรก คือ 1. ถูกทำร้ายร่างกาย คิดเป็นร้อยละ 63 2.ข่มขืนหรือกระทำชำเรา คิดเป็นร้อยละ 25 และ 3.ละเลยทอดทิ้ง คิดเป็นร้อยละ 12 โดยพบว่า ผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก ร้อยละ 33 เป็นบิดาหรือมารดาเด็ก ทั้งนี้ยังพบข้อมูลว่าบิดาหรือมารดาเลี้ยงกระทำต่อบุตรเลี้ยง ร้อยละ 11

 นายสรรพสิทธิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลเหล่านั้นคณะกมธ.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยการแก้ไขมาตรา 1567 (2) ซึ่งเป็นมาตราเดิมที่กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน  พร้อมกันนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในภาคยานุวัติสารเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อวันที่ 12ก.พ.35และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 เม.ย.35 และในปี พ.ศ.2567 นี้ครบรอบ 32 ปี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีฯ ในประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 19 กำหนดว่ารัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ด้านนิติบัญญัติ บริหาร สังคมและการศึกษา ในอันที่จะคุ้มครองเด็กจากรูปแบบทั้งปวงของความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ

นายสรรพสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบ้างแล้ว ซึ่งคณะกมธ.ได้พิจารณาเห็นถึงความจำเป็นที่ควรจะต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับทราบเกี่ยวกับแนวทางการเลี้ยงดูเชิงบวก อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก แต่มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัว ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 89 ปี แม้จะมีการตรวจชำระใหม่ในปี พ.ศ. 2519 ก็มิได้แก้ไข ในหมวดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ โดยเฉพาะมาตรา 1567 (2) ให้สิทธิแก่บิดามารดาทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ย่อมสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยในอดีต แต่สังคมไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ตระหนักและเรียนรู้วิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลากหลายวิธี ไม่เพียงแต่การทำโทษเท่านั้นจึงถึงเวลาที่เหมาะสมและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไข มาตราดังกล่าว เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ครอบครัวอบอุ่นปราศจากความรุนแรง

“การตีเด็กเป็นความรุนแรงที่พบความเสียหายได้อย่างชัดเจนทางด้านร่างกาย สิ่งสำคัญที่พบคือ ผลกระทบทางด้านจิตใจที่ หวาดกลัว หวั่นไหว ไม่มั่นใจ ไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะหากผู้ทำความรุนแรงต่อเด็กเป็นคนใกล้ชิดเลี้ยงดู รวมทั้งเด็กจะซึมซับความรุนแรงเติบโตมาด้วยความรู้สึกที่ไม่มั่นคง และเรียนรู้เลียนแบบการกระทำความรุนแรง และเป็นวงจรสืบต่อกันไปรุ่นต่อรุ่น  อันจะเป็นผลเสียต่อการพัฒนาทางสมองของเด็กที่จะเป็นผู้บริหารของประเทศต่อไป โดยคาดว่าสภาฯ จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมภายในสมัยการประชุมนี้”นายสรรพสิทธิ์ กล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้น และจัดทำรายงานเสนอต่อสภาฯ แล้ว โดยพิจารณาแก้ไขสาระสำคัญของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน แก้ไขเป็น การทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม ต้องไม่กระทำด้วยการทารุณกรรม หรือกระทำความรุนแรง ทำร้ายต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตีหรือการกระทำโดยมิชอบ นอกจากนี้ กมธ.มีการแนบข้อสังเกตขอให้หน่วยงานราชการต้องทำความเข้าใจต่อผู้ปกครองถึงวิธีทางเลือกที่ไม่ใช้ความรุนแรงในการลงโทษเด็ก อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีบทลงโทษ แต่หากผู้ปกครองกระทำการลงโทษด้วยความรุนแรงเกินเหตุ จะไปเข้าเงื่อนไขพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่มีบทลงโทษอยู่แล้ว คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ได้ในวันที่ 30 ต.ค.นี้