เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่รัฐสภา ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่นำโดยนายณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์สาธารณะ องค์กรนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ประเทศไทย และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ต้องขังการเมืองสังคม ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้ที่ประชุมสภาฯ รับรายงานและผลการศึกษาของกรรมาธิการที่จะมีการลงมติในวันนี้ โดย น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เป็นตัวแทนประธานสภาฯ ในการรับยื่นหนังสือ

นายสมยศ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือว่า คนที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นผลสืบเนื่องจาก การทำรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการต่อสู้ปกป้องพรรคการเมือง ไม่ให้ถูกรัฐบาลเผด็จการยุบพรรค รวมถึงการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเราในฐานะที่เป็นประชาชน ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารและที่ออกมาแสดงความคิดเห็น กลับโดนกล่าวหา จึงขอให้ทุกพรรคการเมืองได้รับทราบ ถ้าไม่มีบุคคลเหล่านั้น อาทิ นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เราก็จะไม่มีการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง ประเทศไทยจะตกอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการ และไม่มี สส. ทุกพรรคการเมือง

นายสมยศ กล่าวอีกว่า ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่พรรคการเมืองจะคืนความเป็นธรรมด้วยการนิรโทษกรรมโดยไม่ยกเว้นคดีใด โดยเฉพาะคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ปัจจุบันมี280 คน ที่ถูกกล่าวหา และถูกจองจำ รวม 42 คน ดังนั้น เราขอให้สภารับรองรายงานของกรรมาธิการที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำรักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่พรรคเพื่อไทยจะไม่รับรายงานฉบับนี้ เพราะมีทุกพรรคการเมืองอยู่ในกรรมาธิการชุดนี้ จึงไม่มีเหตุผลใด ๆที่จะคว่ำรายงานฉบับนี้เช่นกัน เพราะใช้เวลาในการศึกษาไปแล้วถึง 6 เดือน มีการประชุมหารือกับทุกฝ่ายไปแล้ว ดังนั้นจึงขอให้สภา มีความกล้ารับรายงานฉบับนี้ อย่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชักนำหรือชี้นำ เพื่อรักษา ระบบรัฐสภา และกระบวนการนิติบัญญัติเอาไว้ และเชื่อว่า หากมีการนิรโทษกรรมจะยุตติความขัดแย้งต่าง ๆ และประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป

ขณะที่ น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า ขอบคุณตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนทุกคนที่เข้ามายื่นหนังสือ และวันนี้ในเวลา 13.30 น. จะมีการพิจารณารายงานและอาจจะมีการลงมติ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้มีความสำคัญมาก ตนจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันติดตาม ว่าหากการรายงานในครั้งนี้ผ่านขึ้นมา จะผ่านได้ในรูปแบบใด ตนขอยืนยันรายงานที่จะผ่านได้นั้น โดยปกติไม่ใช่เรื่องยาก เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำรายงานให้ผ่านได้ รวมถึงรายงานฉบับนี้ไม่ใช่รายงานที่จะถึงขั้นผูกพัน จนเราไม่สามารถรับรายงานได้ ซึ่งตนก็เคยได้ชี้แจ้งไปแล้วในชั้นของกรรมาธิการ ทั้งนี้ ตนจะนำข้อเสนอไปส่งให้กับประธานสภาและกมธ.วิสามัญในลำดับต่อไป