นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยและกีฬา เปิดเผยว่า เตรียมนำเรื่องการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวหรือทราเวลลิ่งแท็ก เข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาในเดือน ม.ค. 2568 และประกาศบังคับใช้ในอีก 6 เดือนหลังผ่าน ครม. ระหว่างนี้ต้องเร่งเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ 1.ระบบเอาต์ซอร์ส ให้มีผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการระบบ 2.ต้องเปิดประมูลบริษัทประกันที่จะเข้ามาดำเนินการทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยว โดยในกรณีเสียชีวิต วงเงิน 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บ วงเงิน 5 แสนบาท ซึ่งจะเป็นเงินที่จัดเก็บเพิ่มเติมจากวงเงินประกันนักท่องเที่ยวทำเองอยู่แล้ว ในกรณีขาดเหลือสามารถเบิกเพิ่มจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยประกันที่จัดเก็บจากภาษีนักท่องเที่ยวจะครอบคลุมการเดินทางไม่เกิน 30 วัน เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ 87% พำนักในไทยไม่เกิน 30 วันอยู่แล้ว

ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะเรื่องการกำหนดให้จัดเก็บภาษีท่องเที่ยว 2 อัตราสำหรับทางบกกับทางน้ำ จำนวน 150 บาทต่อคน และทางอากาศ 300 บาทต่อคน ตามมติ ครม.เดิมที่จะต้องพิจารณา แต่สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ อาจมีการพิจารณาจัดเก็บในอัตราเดียวกันไปเลย เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเลือกปฏิบัติไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามหากจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวทางอากาศก่อนในเฟส 1 ก็น่าจะดำเนินการได้ เพราะว่ามีปริมาณการเดินทางครอบคลุม 70% ของการเดินทางเข้าไทยทั้งหมด แต่ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าเฟส 1 จะเริ่มจัดเมื่อใด และเฟส 2 ที่จะจัดเก็บทางบกกับทางน้ำมีกำหนดเมื่อใด เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีท่องเที่ยวทางอากาศ เสียความรู้สึก ส่วนกลุ่มคนที่ต้องเดินทางค้าขายข้ามชายแดน มองว่าการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวจะไม่กระทบต่อตลาดนี้ เพราะการเดินทางข้ามแดนของกลุ่มนี้ มีการแสดงบัตรข้ามแดนหรือบอร์เดอร์พาส สามารถข้ามแดนได้ชั่วคราว จึงไม่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงระบบการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว หรือทราเวลลิ่งแท็ก ว่า จะมีการจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวผ่านซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันอย่างไรนั้น ก็ต้องไปว่ากันอีกที โดยได้เชื่อมระบบการเงินกับกรุงไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้วงเงินสำหรับประกันจะอยู่ที่อัตราเดิม คือไม่เกิน 60 บาท จากการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยววงเงิน 300 บาทต่อคน ส่วนขนาดกองทุนว่าจะมีการจัดเก็บเงินเท่าใด สามารถคำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลย เช่น อัตรา 300 บาทต่อคน คูณอย่างน้อย 36 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็นราว 3.6 หมื่นล้านบาท โดยในปีแรกที่จัดเก็บเงินเข้ากองทุนอาจมีตกหล่นบ้างเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงทดลองระบบ