เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ทุกปีสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กทม.จะมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน กทม.จึงดำเนินการให้ทุกสำนักงานเขต Kick Off เพิ่มความเข้มมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.นี้เป็นต้นไป


สำหรับความเข้มมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ประกอบด้วย 1. เข้มงวดตรวจวัดตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด 2. ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจรและกวดขันจุดห้ามจอดรถในถนนสายหลักและสายรองตลอดเวลา  3. ประชาสัมพันธ์ประชาชนให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ จอดรถดับเครื่อง และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว 4. ควบคุมสถานประกอบกิจการ โรงงาน แพลนท์ปูน และสถานที่ก่อสร้างในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 5. เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท 


6. ขอความร่วมมือศาลเจ้า มูลนิธิ และวัด งดจุดธูปและเผากระดาษ รวมทั้งให้คำแนะนำและกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจศพปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 7. เพิ่มความถี่ในการล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถเมล์อย่างต่อเนื่อง และ 8. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้พร้อมคำแนะนำวิธีป้องกันสุขภาพอนามัยจากฝุ่นละออง PM2.5 ให้กับประชาชน และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ AIRBKK หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางแอปฟลิเคชัน Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกทม.ครั้งที่ 2 มีการรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นปี 67 ภายใต้แผนลดฝุ่น 365 วัน ที่กทม.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสังกัดและหน่วยงานภายนอก ดำเนินการตามมาตรการติดตามเฝ้าระวัง อาทิ นักสืบฝุ่น Risk Map แจ้งเตือน และติดตั้ง Sensor 1,000 จุด

การกำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจวัดควันดำ ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก การนำรถอัดฟางใช้ในการเกษตร รถ Feeder การพัฒนาทางเท้า การจัดการจุดฝืด Bike Lane ส่งเสริม EV และการป้องกันประชาชน อาทิ ธงคุณภาพอากาศ ห้องปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศ และนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น การมีส่วนร่วมจากประชาชนในการแจ้งสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue  รวมถึงการดำเนินงานตามแผนระยะวิกฤติ.