เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ลานพระราชวังดุสิต น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดี ดิไอคอน กรุ๊ปว่าจะเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร ว่า เข้าใจว่าปัญหานี้สะสมมาหลายปี แต่เพิ่งจะปะทุกันในช่วงนี้ทำให้พี่น้องประชาชนตั้งคำถามถึงการทำงานของ สคบ. โดยขอแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ ตั้งแต่มีการร้องเรียนมายัง สคบ.ตั้งแต่ปี 61 ซึ่งทาง สคบ.ก็ได้ตรวจย้อนกลับไปและไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะ สคบ.มีข้อจำกัดในทางกฎหมายของการตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันก็มีหน่วยงานที่ตอบกลับมาบางหน่วยงาน ถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ที่จะดูแค่ สคบ.ไม่ได้แล้ว ต้องมีวิธีการทำงานร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการบูรณาการแก้ปัญหา รวมถึงการป้องกันในระยะยาว และอีกมิติหนึ่งที่ต้องเรียกความเชื่อมั่นคืน คือเรื่องคลิปเสียงที่ปรากฏในภาพสื่อ

น.ส.จิราพร กล่าวว่า อย่างแรกที่อยากให้ประชาชนมั่นใจ ทางรัฐบาล ตน และ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เอาจริงในการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการคนนอก ไม่ใช่คนใน สคบ. มาตรวจกันเอง แต่มีทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมีสำนักงานอัยการ มาร่วมตรวจสอบ ซึ่งแต่ละคน เป็นผู้คร่ำหวอด เรื่องการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และประธานคณะกรรมการก็เป็นผู้ที่มากประสบการณ์ในการทำคดีใหญ่หลายคดี เป็นคนตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ตนคิดว่า ไม่มีอะไรที่ต้องลำบากใจ ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลในเรื่องความมุ่งมั่น ถึงความตั้งใจที่อยากทำให้เรื่องนี้คลี่คลาย และหลังจากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่อง การหาแนวทางป้องกันระยะยาว ซึ่งเราไม่ได้ดูเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ได้หามาตรการวิธีการในเชิงนโยบาย แนะนำให้สคบ.ได้ไปดำเนินการต่อ ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ที่ สคบ.ถืออยู่ ที่ล้าหลังหรือล้าสมัยไม่ตอบโจทย์ คณะกรรมการนี้จะได้ช่วยแนะนำ และแก้ปัญหานี้ด้วย รวมถึงในการทำงานจะต้องมีการรื้อการทำงานครั้งใหญ่เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้นเพื่อให้องค์กรโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามคนที่ตั้งใจทำงานเป็นข้าราชการน้ำดีก็มีแต่ส่วนไหนที่เป็นปัญหาเราต้องแก้ไขและให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน

เมื่อถามว่า คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นได้มีการรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นมาแล้วหรือไม่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า ทั้งนี้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่ตั้งขึ้นมา ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกสองชุดซึ่งหนึ่งชุดจะดูการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งจะนำพยานหลักฐานพยานวัตถุและพยานบุคคลมาเชื่อมโยงกันซึ่งการประชุมนัดแรกต้องหาข้อมูลองค์ประกอบแวดล้อมทั้งหมดเพื่อรายงานกับคณะกรรมการชุดใหญ่และจะได้กำหนดว่าจะต้องเชิญบุคคลหรือหน่วยงานไหนเข้ามาให้ข้อมูล ส่วนอนุกรรมการอีกคณะหนึ่งจะดูเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ สคบ. ซึ่งเมื่ออนุกรรมการทำงานครบ 1 สัปดาห์ก็จะมีการรายงานให้คณะกรรมการชุดใหญ่ได้รับทราบ

เมื่อถามถึงการพิจารณาถอนใบอนุญาตบริษัทดังกล่าว  น.ส.จิราพร กล่าวว่า สั่งการ สคบ. ให้ทำงานให้เร็วที่สุดซึ่งที่เคยให้ข้อมูลไปว่าอยู่ระหว่างการเชิญบริษัทมาให้ข้อมูล ทั้งตัวบอส ดารา แต่ในระหว่างการสอบสวนได้มีการจับกุม และขณะนี้กลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้วฉะนั้นเป็นขั้นตอนที่ สคบ. ต้องเข้าไปร่วมงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสอบสวนข้อมูลนำมาประกอบการพิจารณาในการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

เมื่อถามว่าสำหรับการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตคาดว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ และจะมีการประสานพูดคุยกับบอสที่อยู่ในคุกหรือไม่ ซึ่งทางทนายระบุว่าหากทาง สคบ.เพิกถอนระหว่างที่ยังไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติม จะทำการฟ้องกลับ ในมาตรา 157 กับทางเจ้าหน้าที่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า เราจะทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายและประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเพื่อดูแนวทางว่าจะสามารถหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมาประกอบอย่างไรได้บ้าง ส่วนจะสามารถเพิกถอนใบอนุญาตภายในสัปดาห์นี้ได้หรือไม่นั้น ก็อาจจะไม่ทัน เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนตามกฎหมายที่เราต้องทำอย่างรอบคอบ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เราไม่ได้มีธงที่จะกลั่นแกล้งใครแต่เราต้องการที่จะทำตามข้อมูลข้อเท็จจริงตามหลักฐานเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อถามว่ากรณีนักการเมืองที่ถูกระบุในคลิปเสียงเรามีสิทธิที่จะเรียกมาชี้แจงหรือไม่ น.ส.จิราพร ระบุว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบมีสิทธิเชิญมาชี้แจงได้ทั้งหมด

เมื่อถามว่านักการเมืองจะสามารถสั่งการ สคบ. ได้หรือไม่นั้น น.ส.จิราพร เรื่องนี้ต้องรอดูข้อเท็จจริงเพราะคณะกรรมการชุดนี้มีการตั้งขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้เกิดความกระจ่าง ส่วนการดำเนินการล่าช้าเกินไปหรือไม่นั้น หลังจากที่มีคลิปเสียงปรากฏบนสื่อในวันที่ 10 ต.ค.หลังจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการคนนอกขึ้นมาในวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งดำเนินไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการคนนอกก็ต้องมีการหาตัวผู้ที่มีความเหมาะสม แล้วประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตนมองว่านี่ไม่ใช่ระยะเวลาที่ล่าช้าเกินไป เราก็เร่งทำอย่างดีที่สุดและรอบคอบ